แน็ต : สวัสดีค่ะ แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้อยู่ช่วงคุยกับคนใจหมา เรามากับปัญหาน้องหมาติดคน ติดหมา แบบอยู่ตัวเดียวไม่ได้เลยเนาะ ใช่ไหมคะ
นุช : ใช่ค่ะ
แน็ต : เอาเลยคุณนุช มีเวลา 15 นาทีเล่าปัญหามาเลยค่ะว่ามันเกิดอะไรขึ้น
นุข : ก็ตอนนี้ เรียกน้องเปาแล้วกัน ตอนนี้อายุ 8 เดือน เป็นพุดเดิ้ลทอย ตอนเอาเขามา 2 เดือนแรกก็ฝึกให้เขานอนคนเดียวในห้องส่วนตัวเขา ก็ได้ผลดีอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็มีไปต่างประเทศอยู่ 7-8 วัน ก็เลยฝากไว้กับน้องให้เลี้ยง พอตั้งแต่กลับมาก็ไม่ยอมอยู่คนเดียวเลย ไม่ยอมนอนคนเดียว เขาก็จะร้องตลอดเลย
แน็ต : ได้ถามน้องสาวไหมคะว่าเกิดอะไรขึ้น เขาไปทำอะไรช่วง 7-8 วันนั้น
นุข : คือน้องสาวเขาก็เลี้ยงหมาอีกตัวหนึ่ง ที่บอกว่าเป็นพี่สาวเจ้าเปาเนี่ยแหละ แก่กว่าน่าจะประมาณสัก 7 เดือน ซึ่งเขาเลี้ยงแบบว่าเอาขึ้นเตียงนอนตลอดเลย คือเลี้ยงแบบอยู่ในห้องด้วยกันกับเขาตลอด ก็คิดว่าช่วงนั้นเขาเอาเจ้าเปาไปอยู่ด้วย พอเสร็จแล้วนางก็เลยมีพฤติกรรมเลียนแบบพี่สาว อยู่ตัวเดียวไม่ได้ ไม่ยอมอยู่คนเดียว เวลาอยู่คนเดียวก็คือจะเห่าตลอดเลย
แน็ต : เห่าหอนประมาณนั้นไหมคะ
นุข : ไม่ถึงขั้นหอนนะคะ แต่ตัวพี่สาวเนี่ยหอน เจ้าเปายังไม่ถึงขั้นหอน แค่เห่าแล้วตะกุยอย่างเดียว
แน็ต : โอเค ถ้างั้นเราละพี่สาวของเจ้าเปาไว้อีกที่หนึ่งก่อน เราไม่ไปยุ่งกับเขา เพราะเจ้าของเขาต้องการให้หมาเขาเป็นแบบนั้น ปล่อยเขาไป กลับมามองน้องเปา คือเจ้าเปาเนี่ยอยู่ตัวเดียวไม่ได้เลยใช่ไหม คือมันจะมี 2 กรณี separation anxiety มันมี 2 กรณี กรณีแรกคือ มีคนอยู่ มีหมาอยู่ แต่คนเดียวที่ไม่อยู่ เจ้าของไม่อยู่ปุ๊บ หมาปัญหา ทั้งที่ในห้องมีทั้งคนมีทั้งหมาอยู่ แต่แค่เจ้าของไม่อยู่คนเดียว หมาจะมีปัญหา กรณีที่สองก็คือไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าไม่มีคน ไม่มีหมาอยู่ คืออยู่ตัวคนเดียวไม่ได้เลย ประมาณนั้น
นุช : เป็นกรณีที่ 2 มากกว่า เพราะว่าอย่างเวลาถ้าสังเกตตัวเองไม่อยู่เนี่ย แล้วมีแม่มีน้องอยู่เนี่ย เขาก็ยังไม่เห่า แต่ถ้าเมื่อไรไม่มีอะไรเลยอยู่เนี่ย จะเห่า
แน็ต : จะเริ่มมีปัญหาทันที โอเค ทีนี้เนี่ย พอหมาเห่าปุ๊บ เราก็จะเกิดการไปให้ความสนใจหมาใช่ไหมคะ คือเข้าไปคุยเข้าไปเล่นกับเขา คือเอาเขามาอยู่ด้วยน่ะ ประมาณนั้นถูกไหม
นุช : ใช่ค่ะใช่ เพราะว่ากลัวว่าจะรบกวนเพื่อนบ้าน
แน็ต : นั่นแหละ มันจะเป็นปัญหาตรงนี้แหละ ที่เจ้าของส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาหมาตรงนี้ไม่ได้ เพราะว่าจะเกรงใจเจ้าของบ้านเนาะ
นุช : ขอบอกคุณแน็ตเพิ่มเติมนิดหนึ่ง เคยใช้วิธีการเอาที่มัดปาก มัดปากเขา มัดเชือกเขา เขาก็ยิ่งจะรู้สึกเห่าใหญ่เลยค่ะ
แน็ต : อย่าไปมัดๆ การที่เรามัดปากเขาน่ะ เหมือนเราบังคับร่างกายเขา แต่เราไม่สอนสมองเขา เหมือนถ้าเราอยากกินไอติมมากเลย แต่เรา on diet เราไม่สามารถกินได้ มีคนมาจับเรามัดมือเอาไว้ ไม่ให้เราอยากกิน ตัวเราหยุดไม่ให้อยากกินได้ แต่สมองเรามันหยุดไม่ได้ นึกออกไหม สมองเรามันก็จะคิดแต่ไอติมๆๆ อะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นวิธีหยุดหมาที่ดีที่สุดคือคุณต้องหยุดจากข้างใน ถ้าหยุดสมองเขาได้ปุ๊บ หยุดความคิดเขาได้ปุ๊บ ร่างกายเขาจะตามมาเอง นึกออกไหมคะ
นุช : ค่ะ
แน็ต : ทีนี้เนี่ย หมาที่ว่าอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ วิธีแก้เนี่ย เจ้าของต้องใช้ความพยายาม ใช้ความอดทนกับเขาหน่อยนะ คือเราจะแนะนำให้พาเขาไปออกกำลังกาย คือพาไปเดิน พาไปว่ายน้ำ พาไปฝึก obedience อะไรก็ได้ให้เหนื่อยน่ะค่ะ เขายังเป็นลูกหมาอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจะยังเหนื่อยง่ายอยู่ พอเขาเหนื่อยปุ๊บ เหนื่อยทางกาย เพราะออกกำลังกายใช่ไหม เหนื่อยสมอง เพราะเราฝึกให้เขาทำตามคำสั่ง เช่น นั่งลง หมอบ คอย อะไรพวกนี้ พอหมาเหนื่อยทั้งตัวปุ๊บ เขาจะหลับ ไอ้ช่วงที่เขาหลับนี่แหละ เราเอาไปไว้อีกห้องนึง แล้วเราก็ไปอยู่อีกห้องนึง คือข้อดีของการฝึกลูกหมาที่เพิ่งเริ่มมีปัญหาอย่างนี้เนี่ย คือในสมองเขาอย่างนี้ ยังไงร่างกายเขามันเลือกที่จะเหนื่อยนอน มากกว่าเลือกที่จะโฟกัสกับเจ้าของ งงไหมคะ
นุช : เข้าใจค่ะ
แน็ต : นั่นแหละ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ที่เราทำได้ตอนนี้เลยก็คือประมาณนี้ คือเอาให้เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งสมอง เสร็จแล้วเราก็ให้เขา คือถ้าตาม Concept เลยนะ เราจะออกกำลังกาย ออกกำลังกายเสร็จ ออกกำลังกายสมอง เสร็จแล้วให้กินข้าว ให้กินข้าวแล้วพาไปขับถ่าย ขับถ่ายเสร็จให้ไปนอน นี่คือ 5 steps ในการฝึกลูกหมานะคะ พอให้ไปนอนเราก็เอาเขาไปไว้ในห้องนั้นเลย ปิดประตูแล้วก็เดินออกมาเลย ไม่ต้องแบบ แม่ไปละนะลูก อะไรอย่างนี้ ไม่ต้องนะ หมาจะเกิดความแบบ ทำไมดูวิงวอน เธอไม่อยากไป หรือฉันควรจะอยู่กับเธอ อะไรประมาณนี้
นุช : มาร่ำลา
แน็ต : .ใช่ แบบมาร่ำลา อย่ามาอาลัยกัน อย่าดราม่ากับหมา คือเดินปุ๊บ จับสายจูงปุ๊บ เอาเข้ากรงหรือจุดที่เขาควรจะนอน เสร็จแล้วเราก็ปิดประตูเดินออกไป ช่วงแรกๆเขาจะยังมีพยายามต่อสู้กับความเหนื่อยของเขา เขาจะคิดว่า เฮ้ย ทำไมวะ ทำไมแม่ไม่อยู่กับเรา ทำไมหายไปไหนกันหมด ยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ ไม่ไหวแล้วโว้ย จะเริ่มมีการตะเกียกตะกายประตู มีเห่ามีอะไรพวกนี้ แต่เราอย่าไปสนใจเขา เราเพิกเฉยไปเลย ไม่ต้องสนใจมัน เดี๋ยวมันหยุดเอง แล้วพอเขาหยุด เขานอน ตอนนี้หมาจะเกิดการเรียนรู้แล้วว่า อ้าว เราก็อยู่ตัวคนเดียวได้นี่หว่า คือเหมือนตอนนี้หมามันเรียนรู้ว่าเขาอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ ทั้งๆที่เขาอยู่ได้มาตลอด อันนี้เราแค่กำลังจะย้อนกลับไปหาเขาแล้ว ว่าแกอยู่ตัวคนเดียวได้เว้ย แกไม่จำเป็นต้องมาติดตัวเจ้าของตลอดเวลา หรือไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ใกล้คนตลอดเวลา โดยที่เราใช้วิธีการบังคับเขาให้อยู่ตัวคนเดียว เพราะร่างกายเขาเหนื่อย มันเหมือนคนน่ะ ถ้าเราออกกำลังกายแบบวิ่ง 10 กิโล อะไรประมาณเนี้ย เรากลับมา ต่อให้เรามีปัญหาอะไรในหัวเราตอนนั้นน่ะ ร่างกายเราก็เลือกที่จะปิดตัวเองเพื่อไปนอน นึกออกไหม
นุช : ค่ะ
แน็ต : นั่นแหละค่ะ อารมณ์เดียวกัน ทีนี้เนี่ย อันนี้เป็นหนึ่งวิธีที่จะใช้แก้ วิธีที่สองคือเวลาหมาเห่า หมาตะกายตัวเราอ่ะ เขาต้องการความสนใจจากเรา แน็ตจะบอกว่าถ้าเวลาหมาทำแบบนั้น อย่าไปสนใจเขา ให้เขาเรียนรู้ว่าการที่คุณเห่า คุณกระโดด คุณตะกาย พฤติกรรมนี้เราไม่รับ เราจะไม่ acknowledge พฤติกรรมนี้เลย ไม่เอาเลย ไม่สนใจ เห่าก็เห่าไป ไม่สนใจ ทำเป็นธาตุอากาศ เดี๋ยวมันเห่ามาได้ถึงจุดนึงเดี๋ยวมันก็ เฮ้ย ทำไมวันนี้เจ๊มาเปลี่ยนวะ ทุกทีเห่าแล้วได้นี่หว่า ทำไมวันนี้เห่าแล้วไม่ได้ บวกกับร่างกายก็เหนื่อย เห่ามันก็ใช้แรงเยอะเนาะ มันเหนื่อยมันก็ไม่ไหวแล้ว งั้นช่างมัน ฉันไปนอนละ อะไรประมาณนี้ แล้วพอช่วงที่เขาเดินไปนอน เขาเดินหนีเราไปที่จะไปทำอย่างอื่นน่ะ ช่วงนั้นแหละเราก็เดินไปเล่นกับเขา เพื่อให้เขารู้ว่าการที่เราจะสนใจคุณ ก็ต่อเมื่อคุณให้พฤติกรรมสงบกับเรา concept ตรงนี้งงไหมคะ ถ้างงถามมาได้เลยนะ
นุช : ไม่งงค่ะ แต่ที่ผ่านมาจะทำตรงข้าม concept ตลอด
แน็ต : มันเป็นเรื่องปกติ
นุช : โอเค เข้าใจแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาคือพอเขามาตะกุยเราก็ต้องอุ้มเขาขึ้นมาเล่นแล้ว
แน็ต : ใช่ๆ มันเป็นเรื่องปกติพี่
นุช : ทีนี้มันมีอีกจุดหนึ่ง ที่จะถามคุณแน็ต ที่บอกเนื่องจากว่ามันมีพี่สาวเจ้าเปา ชื่อน้องบราวนี่ คือบราวนี่เนี่ย ที่ว่าน้องสาวเลี้ยงจนติดคนมาก เห่าเก่ง นู่นนี่นั่น แล้วหลังๆที่สังเกตเนี่ย เจ้าเปาก็จะติดบราวนี่ แล้วจะคล้ายๆว่าดูพฤติกรรมพี่สาว แล้วก็จะเริ่มเลียนแบบแล้ว จากเมื่อก่อนไม่เห่าเนี่ย เดี๋ยวนี้ก็จะมีเริ่ม ถ้าบราวนี่เห่านานๆเขาก็จะเริ่มเห่าบ้าง ก็เลยคิดว่าเราจำเป็นจะต้องแยกเขาไปไหม
แน็ต : แยก
นุช : แต่จริงๆก็คืออยากให้เขามีเพื่อนบ้าง
แน็ต : คือแน็ตแนะนำว่า ถ้าในกรณีที่คุณนุชไม่สามารถดูแลหมาได้ แน็ตแนะนำเอาเปาไปฝากกับที่รับเลี้ยงหมาดีกว่า เพราะว่าในกรณีที่ว่าของน้องสาวคุณนุช หมาเขาไม่เปลี่ยน น้องสาวคุณนุชก็ไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นมันเหมือนเอาหมาเราที่พร้อมจะเรียนรู้ หมาที่พร้อมจะก็อปปี้ทุกอย่าง แทนที่เราจะเอาเขาไปวางให้อยู่กับตัวอย่างที่ดี เรากลับเอาเขาไปอยู่กับตัวอย่างที่ไม่ดี ทีนี้หมาก็จะเริ่มเกิดการเรียนรู้กับตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว เพราะเขาไม่เคยเจอตัวอย่างอื่น เขาไม่เคยเจอตัวอย่างหมาที่ว่า เออ มันก็อยู่กันนิ่งๆได้นี่หว่า มันก็เล่นกันได้ คือแบบแต่ละตัวสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องกัดกัน ไม่ต้องทะเลาะกัน อะไรประมาณนี้ คือเขาไม่เคยเจอตัวอย่างอื่น เขาเจออยู่ 2 ตัวอย่าง ก็คือตัวอย่างแบบคุณนุช อีกตัวอย่างคือตัวอย่างแบบน้องสาวคุณนุช เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้แน็ตแนะนำนะ คุณนุชไปคุยกับน้องสาวว่า เฮ้ย คุณควรจะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตคุณกับหมา แต่แล้วแต่เจ้าของ มันแล้วแต่วิธีการเลี้ยงหมา อันนี้เราเข้าใจ ถ้าเขาไม่พร้อมจะเปลี่ยน หมาเขาก็ไม่พร้อมจะเปลี่ยน เรามีเหลือวิธีเดียวค่ะ คือเอาหมาเราไปที่อื่น เพราะถ้าไม่งั้นมันจะลงอู่ไปด้วยกันเลย
นุช : แล้วแบบนี้เนี่ย คือสมมติว่าเราจะแยกหมาเรามาเลี้ยงในแบบที่ว่าเปลี่ยนแปลงเขาใหม่น่ะ มันสักเท่าไรคะ มันถึงจะสามารถเอาหมาเรากลับเข้ามาอยู่กับหมาตัวอื่น จะว่าเป็นหมาน้องสาวหรือหมาใครก็ได้ที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไรอย่างนี้
แน็ต : อันนี้มันขึ้นอยู๋กับหมาเราน่ะค่ะ ว่าเขามาแนวไหน หมาบางตัวน่ะเลือกที่จะเลียนแบบหมาตัวอื่น คือเขาเกิดมาเพื่อที่จะเลียนแบบน่ะ เขาจะแบบ เฮ้ย ทำไรกันวะขอไปทำด้วย คือไม่ใช่หมาที่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไร กับอีกอันคือหมาที่เกิดมาเพื่อที่เป็นตัวของตัวเอง แกจะทำอะไรก็ทำไม ฉันไม่เล่นไม่สน ฉันจะนอน อะไรประมาณนี้ มันต้องดูว่าหมาเราเป็นอันไหน แต่เท่าที่ฟังมา หมาคุณนุชเหมือนจะเป็นอันแรก คือทำไรกัน อ๋อ โอเค ทำแบบนี้ เราจะก็อปปี้คุณแบบนี้ แต่คือพื้นฐานหมาส่วนใหญ่นะ พื้นฐานหมาปกติเลยนะ เขาเกิดมาเพื่อเลียนแบบ เพราะฉะนั้นเนี่ย ทำไมแน็ตถึงบอกว่าเจ้าของอ่ะ คุณต้องสงบก่อน พอคุณสงบปุ๊บเดี๋ยวหมาคุณมันจะสงบตาม เพราะว่าเขาจะเลียนแบบเรา เขาจะเลียนแบบสิ่งที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเขาน่ะ ถ้าเจ้าของเริ่มตื่นเต้นอะไรพวกเนี้ย หมามันจะตื่นเต้นตาม แต่ถ้าหมาตื่นเต้นอยู่ แล้วเราเฉยๆ เรานิ่งๆ ก็เราสงบเราไม่สนใจ เขาจะสงบตามเรา นี่คือพื้นฐานหมาส่วนใหญ่ เขาเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เกิดมาเพื่อเลียนแบบ แต่ไอ้พวกที่มาแบบ ไม่ต้องฉันไม่เลียนแบบใครเลย เป็นตัวของตัวเอง ฉันเป็นหมาศิลปิน อาร์ตติสสูง อะไรประมาณเนี้ย พวกนี้มันจะไปเป็นแนวจ่าฝูงแล้ว พวกนี้จะเป็นหมาตำรวจหมา หมาที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความกล้าหาญ มีอะไรคือไม่ต้องเลียนแบบ ฉันทำของฉันเอง มีความชัดเจนในตัวเอง คือเป็นจ่าฝูงไปเลย ซึ่งมันจะมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์แนวนี้ หมาส่วนใหญ่เกิดมาไม่ได้เพื่อเป็นจ่าฝูง เพราะฉะนั้นเขาจะมีหน้าที่เลียนแบบ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเอากลับมาได้เมื่อไหร่แน็ตก็ว่าคงยังไม่น่าเอากลับมาจนกว่าจะสักขวบสองขวบ แต่อันนี้คือก่อนเอากลับไปนี่คือหมาต้องไม่มีปัญหาแล้วนะ คือต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วนะ แล้วให้ไปอยู่กับน้องสาวคุณนุช แต่เวลาน้องสาวคุณนุชเลี้ยงหมาของคุณนุช น้องสาวคุณนุชก็ต้องไม่เอาไอ้เปาไปนอนด้วย คือถ้าเปาโตมาเพื่อเรียนรู้ให้นอนอยู่ด้วยตัวคนเดียว คนอื่นมาเอาไปเลี้ยงต่อเขาก็ต้องนอนได้ด้วยตัวของเขาเอง คืออันนี้มันต้องเปลี่ยนทุกคนเลย น้องสาวคุณนุชก็ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าวันแรกน้องสาวคุณนุชเอาไอ้เปากลับไปปุ๊บ แล้วเอากลับไปนอนด้วย หมามันก็จะเกิดการงงแล้ว ตกลงเอายังไงวะ ทุกทีก็นอนคนเดียวได้ แต่ทำไมคราวนี้นอนคนเดียวไม่ได้ เพราะการที่เขามีคนเอาเขามานอนด้วยน่ะ เขาจะได้ความสนใจเต็มๆเลยนะ มันจะไม่ใช่แค่การขึ้นมานอนจบ มันจะเป็นการเล่น การจูบ การลูบคลำ การคุย ทุกสิ่งทุกอย่างที่หมาต้องการมาเกิดบนเตียงนอนที่อยู่ด้วยกัน ทำไมหมาถึง แล้วตั้งแต่นั้นมาหมาก็จะแยกจากคนไม่ได้เลย เพราะว่าทุกทีถ้าฉันอยู่ ณ จุดนี้ฉันได้ ถ้าฉันไม่อยู่ ณ จุดนี้ฉันไม่ได้ งั้นฉันเห่า ฉันหอน อ้าว พอเห่าหอนแล้วฉันได้ อะไรประมาณนี้ค่ะ
นุช : เพราะตั้งแต่นั้นมาก็ต้องเอาเขามานอนในห้องด้วย แต่ว่าโอเค ไม่ให้เขานอนบนเตียง ให้เขานอนที่พื้นค่ะ แต่ว่าคือยังไงก็ต้องมานอนในห้องแหละ ไม่ยอมแยกไปละ
แน็ต : คือแน็ตแนะนำว่าอย่าเพิ่งฝึกแบบว่ามานอนทีเดียวเลยนะ อย่างแน็ตไม่แนะใจว่าคุณนุชตามเพจแน็ตมานานหรือยังเนาะ อย่างไทนี่อ่ะค่ะ ไอ้หมาตัวใหญ่ที่แน็ตได้มา ตอนเอามาอารมณ์เดียวกันเลย คือเขานอนตัวเดียวไม่ได้ เขาติดคนชนิดที่เรียกว่าต้องนอนด้วยกัน ถ้าอยู่ในกรงปุ๊บทั้งเห่า ทั้งหอน ทำลายกรงทุกอย่าง แต่เราก็ไม่เคยใจอ่อนนะ เราบอกอยากเห่าก็เห่าไป แต่โชคดีอย่างคือบ้านเรามันอยู่เป็นทุ่งนาเป็นไร่ คือเห่าไปเลยค่ะไม่มีใครได้ยิน
นุช : อย่างของเราถ้าปล่อยเห่าไปอาจจะโดนรปภ.หมู่บ้านมา
แน็ต : ใช่ๆ เราถึงต้องให้ควบคู่กับการออกกำลังกายไง เพราะพอเหนื่อยปุ๊บ เหนื่อยกาย ร่างกายก็เหนื่อย สมองก็เหนื่อยปุ๊บ เปอร์เซ็นที่เขาจะนอนน่ะมันสูง
นุช : พลังเขาจะลดลง
แน็ต : ใช่ๆ แต่ถ้ามาแบบอยู่ดีๆจับเข้ากรงเลย หมาก็จะแบบ อะไรวะ เกิดอะไรขึ้นวะ คือแรงเขายังมีอยู่น่ะ มันก็จะเห่ามันก็จะหอน แล้วช่วงนี้บางคนจะเจออาการทำลายกรง แล้วถ้าทำลายกรงปุ๊บ เจ้าของมาปุ๊บ ปล่อยมันออก หมาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าอะไร อ้าว ก็ทำลายกรงสิวะ ทำเสียงนิดๆหน่อยๆเดี๋ยวเจ้าของก็มาละ อย่างนี้หมาฝึกเจ้าของดี
นุช : ทำเสียงงิ้งๆเหมือนครวญครางอะไรสักอย่างอย่างนี้
แน็ต : ใช่ คุณแม่แต่ละคนก็จะแบบ ตายแล้ว heartbroken
นุช : แล้วคุณแน็ตใช้เวลาเท่าไรคะในการฝึกเจ้าไทนี่ให้เขากลับมาอยู่แยกได้ตัวเดียว
แน็ต : แน็ตฝึกวันเดียว ฝึกวันเดียวเลย
นุช : วันเดียว
แน็ต : ของพวกนี้ถ้าทำถูกนะ ฝึกวันเดียวจบ จริง แต่เราจะใช้เวลาตอนกลางวัน เราไม่ใช้ตอนกลางคืนแล้ว เพราะเราก็ง่วงใช่ไหม เพราะงั้นใช้ตอนกลางวันที่เรานั่งทำงานอยู่เนี่ยแหละ เราก็จับเขาใส่กรงเลย แล้วเราก็ปิดกรงเดินไปไม่มีร่ำลา ไม่มีการแบบแม่ไปละนะลูก อะไรอย่างนี้ บางทีช่วยหน่อยก็คือเอาเข้ากรงปุ๊บแล้วให้ขนมเขากิน แบบกระดูกที่เคี้ยวนานๆ หรือหูหมูอบแห้งหรืออะไรพวกนี้ ที่เขาใช้เวลานานๆในการเคี้ยวน่ะ
นุช : ให้เขาลืมเราไปหน่อยนึง
แน็ต : ใช่ๆๆ ให้เขาลืมเราไปด้วย และให้เขารู้ว่าการที่เข้ากรงมา มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายนะ พอเข้ากรงมาปุ๊บก็มีของมาให้ นึกออกไหม เฮ้ย การเข้ากรงมันก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันนะเนี่ย
นุช : มีรางวัลให้นิดหนึ่ง
แน็ต : ใช่ แต่คือรางวัลต้องแบบว่า อาหารเม็ดไม่ได้นะคุณ เพราะมันก็ได้กินอยู่แล้ว เป็นอะไรที่แบบว่าเขาไม่ค่อยได้กิน คือไทนี่จะรู้เลยว่าเขาจะได้หูวัวอบแห้งเฉพาะตอนที่เขาอยู่ในกรง พอตอนนี้มันเลยเรียนรู้แล้วว่าถ้าอยู่นอกกรงหรืออยู่ที่ือื่นอย่างนี้ ถ้าเราให้หูวัวเสร็จปุ๊บ เขาจะคาบแล้วเขาจะเดินกลับเข้ากรงไปเลย
นุช : อ้อ ง่ายขนาดนั้นเลย
แน็ต : ใช่ กลายเป็นนิสัยไปเลย ว่าถ้าฉันจะกินฉันต้องกินในกรง ฉันจะกินข้างนอกไม่ได้
นุช : ถ้าวิธีนี้ได้ผลนะ เจ้าเปานี่น่าจะง่ายเพราะเขาเป็นหมาที่ค่อนข้างกินง่ายแล้วกินเก่ง ชอบกินขนมมาก เรื่องกินนี่ไม่มีปัญหาเลย
แน็ต : โอเคเลย ถ้างั้นได้เลย แต่อย่าให้กินขนมที่มีน้ำตาลเยอะเนาะ เอาอะไรที่มันธรรมชาติๆน่ะค่ะ เพราะมันจะได้ไม่ไปทำลายสุขภาพเขาด้วย
นุช : พวกจมูกหมูแห้งอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมคะ
แน็ต : ได้ เคี้ยวนานๆน่ะ เคี้ยวให้มันเหนื่อยหลับไปเลย หลับคาหูไปเลยอะไรประมาณนี้ แล้วพอเอาเขาเข้าไปในกรงปุ๊บ เราให้ขนมเขากิน เราปิดกรง หมามันเห่า กินเสร็จแล้วเห่า หรือยังไม่กินแล้วเห่าก็มี เราก็ไม่สนใจ
ฉันเดินหนีไป เพราะว่าการกระทำทั้งหมดนี้ พฤติกรรมวิงวอน อ้อนวอนจะออกจากกรงพวกนี้ จะไม่ได้รับการรับรู้อะไรจากเจ้าของเด็ดขาด
นุช : ถามคุณแน็ตนิดนึงเรื่องออกกำลังกาย หมาตัวที่ว่าเนี่ย 8-9 เดือน ถ้าพาไปว่ายน้ำคือไม่อันตรายแล้วใช่ไหมคะ
แน็ต : ไม่ค่ะ ว่ายได้เลย
นุช : เพราะว่าส่วนตัวมันเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับการพาน้องหมาตัวเก่าไปว่ายน้ำ แล้วอีกวันเขาก็เสีย แต่ตัวนั้นเขาอายุ 16 ปีแล้วด้วย เป็นพุดเดิ้ลเหมือนกัน แล้วเขาเป็นมะเร็ง
แน็ต : ไปว่ายมาราธอนหรอคะ
นุช : ว่าย 10 นาทีเองค่ะ เราก็นั่งดูตลอดนะคะ คนพาว่ายเขาก็พาว่ายแล้วพัก แต่อย่างที่ว่าเขาแก่แล้วแล้วเขามีโรคอื่นด้วย
แน็ต : เขาคงใช้พลังงานช่วงสุดท้ายของเขาไปกับการว่ายน้ำ 10 นาทีนั้น
นุช : เราก็เลยรู้สึกฝังใจว่าเป็นเพราะว่าเขาว่ายน้ำแล้วปอดชื้นอย่างนี้ ก็เลยไม่อยากพาน้องเขาไปว่ายอีก
แน็ต : แต่อันนี้หมาแต่ละตัวก็ไม่ใช่ว่าเห็นน้ำแล้วกระโดดลงน้ำเนาะ เราก็ต้องมีสอนเขาหน่อย แต่ถ้าเกิดหมาเรียนรู้ในการว่ายน้ำแล้วเขาชอบที่จะว่ายน้ำแล้ว อันนี้ให้ดีคือใส่เสื้อชูชีพไว้เลยค่ะ เขาจะได้ไม่จม เพราะอย่างไทนี่ ไทนี่ชอบว่ายน้ำ แต่ถ้าไม่มีเสื้อชูชีพนะ ว่ายได้ประมาณ 5 นาทีน่ะ ขาหลังเขาจะหยุดว่ายละ เขาเหนื่อย แล้วทีนี้มันก็จะเหมือนมีแต่ขาหน้าตะกายแล้ว ขาหลังไม่ตะกุยขึ้นมาเขาก็จะจมน้ำ อันนี้อันตราย แต่ถ้าใส่ชูชีพ คุณว่ายไปเลย คุณล่องลอยไปเลย ทำอะไรทำไป แล้วมันเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับหมาที่ดีด้วยเหมือนกัน แต่ ณ ตอนนี้ถ้าเรายังไม่พร้อมจะให้หมาว่ายน้ำ เพราะเราต้องสอนหมาว่ายน้ำก่อนใช่ไหม เอาเขาไปเดินเล่นก่อนก็ได้ เดินแบบสักชั่วโมงนึง หมา 8 เดือนตัวเล็กๆ แต่มันก็แล้วแต่พลังงานมันนะ หมาบางตัว ถึงตัวไม่ใหญ่แต่พลังงานมันเยอะก็มี อะไรประมาณนี้ ถ้าให้แบบ กลับมาแบบลิ้นห้อยๆ แบบเหนื่อยแล้วอะไรประมาณนี้ อันนั้นคือประสบความสำเร็จ มันหลับแน่นอน แต่ถ้าเขายังเห่าอยู่ก็ไม่ต้องแปลกใจ แค่เรา ignore เขาไปเท่านั้นแหละ อย่าไปสนใจ
นุช : แต่ไม่ควรจะไปแบบถือไม้ดุเขา หรือทำเสียงสองดุเขาเลยใช่ไหมคะ
แน็ต : ไม่ต้องๆ ไม่ต้องเลย เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ถ้าเขาเริ่มกัดกรงน่ะ อันนี้จะให้ใช้เอาไม้ตีกรง เสียงดังๆให้มันตกใจ ให้มันหยุด ถ้าตะกายกรงพวกนี้เราควรจะทำ แต่ไม่ได้ตีหมานะ แต่ตีกรงข้างๆทำเสียงดังๆให้เขาตกใจ แค่นั้นเอง แต่ถ้าเขานั่งอยู่ในกรงแล้วงิ้งๆ โวยวายๆ อะไรประมาณนี้ เราก็ปล่อยเขาไป ที่แน็ตแนะนำแบบนี้เพราะว่าหมาของพี่มันเคยมีประสบการณ์ที่ไม่มีปัญหานี้มาก่อน แล้วเขายังเป็นลูกหมาอยู่มันยังง่ายอยู่ หมาบางตัวที่เป็นปัญหาแบบนี้มาปีสองปีแล้วหรือมากกว่านั้นน่ะ ก็จะใช้วิธีที่อีกแบบหนึ่ง วิธีนี้จะไม่ได้ผลแล้วเพราะมันน้อยเกินไปสำหรับหมาที่เพิ่งเริ่มเป็น
นุช : เขาแก่กล้าแล้ว
แน็ต : ใช่ๆ คือพวกนั้นมันกลายเป็นสันดานไปแล้ว แล้วถ้าให้ดีเนี่ย แน็ตแนะนำก็คือพอเอาเข้าไปในกรงแล้วใช่ไหม เราก็ตั้งกล้องถ่ายวิดีโอเขาไว้ แล้วเราดูซิว่าหมาเราทำอะไรอยู่ข้างใน เพราะมันจะจับเวลาด้วยนะ เจ้าของหลายคนจะบอก หมาพี่นะเห่าเป็นชั่วโมง เราก็บอกจริงหรอ เห่าเป็นชั่วโมงจริงหรอ พอตั้งกล้องดู 15 นาทีเองที่เห่า
นุช : ความรู้สึกเจ้าของมันเหมือนนานมากไง
แน็ต : ใช่ๆ แล้วพอเราตั้งวันนี้ 15 นาที พรุ่งนี้เราลองใหม่ เวลามันจะลดลง ถ้าเราเห็นเวลาจาก 15 นาที แล้วเขาเงียบ รอบถัดมา 10 นาทีแล้วเขาเงียบ แสดงว่ามันได้ผล หมาเกิดการเรียนรู้ละ แต่อย่าคาดหวังว่าเขาจะเรียนรู้ได้ภายในวันสองวันนะคะ มันแล้วแต่หมามันแล้วแต่คนเหมือนกัน แต่ถ้าตราบใดที่วันนี้เขาเห่า 15 นาทีแล้วเขาเงียบ พรุ่งนี้เขาเห่า 13 นาทีแล้วเงียบ อันนี้คือได้ผลละ ทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วเรามาสนใจเขาเมื่อไร สมมติเราฝึกเขาใช่ไหม เอาแบบตอนกลางวันช่วงเที่ยงๆที่คนไม่ค่อยอยู่บ้าน พอเอาเขาเข้าไปในกรงปุ๊บ พอเขาเห่าๆ เราไม่สนใจ ignore ไป นั่งฟังเพลงไป อย่าไปสนใจมัน พอมันเงียบ พอข้างล่างเงียบแล้วอ่ะ เหมือนแบบไม่มีเสียงเห่าแล้วเว้ย ถ้าไม่หมาตายก็แปลว่าหมาหลับ จับเวลาไปเลย 2-3 นาที ถ้าเขาเงียบแล้วจับเวลาไปเลย 2-3 นาทีหรือ 5 นาที แล้วเราค่อยเดินลงไปปล่อยเขาออกจากกรง
นุช : ต้องให้เขาเงียบก่อนถึงลงไปปล่อย
แน็ต : ใช่ๆ แต่ไม่ใช่ว่ามันเงียบปุ๊บแล้วไปปล่อยเลยนะ ไม่ใช่นะ คือต้องเงียบแล้วดูซิว่าเงียบได้สักกี่นาที ถ้าเงียบ 1 นาทีแล้วเริ่มโวยวายต่อ อย่างนี้ไม่เงียบ บางตัวมาเป็น wave ถ้าสัก 3-5 นาทีแล้วเขาเงียบ แปลว่าเขาหลับไปแล้ว เราก็เดินลงไป แล้วตอนเราลงมาไม่ต้องไปชมนะ แบบเก่งจังเลยลูก ไม่ต้องนะ คือเราเดินมาเราเฉยๆ ไม่ต้องไปสบตาเขา เดินมาเฉยๆจับกรง พอเราจับกรงปุ๊บ ถ้าหมากระโดด ไม่สนใจมัน อย่าไปสนใจมัน ก็กลับมาอารมณ์เดิม พฤติกรรมอะไรที่เราสนใจ พฤติกรรมอะไรที่เราไม่สนใจ พอตะกายปุ๊บ เราก็ยืนเกาะกรงไว้นั่งมองไปทางอื่น ไม่ต้องสนใจเขาเลยนะ ไม่ต้องสบตา ไม่ต้องเรียก เพราะแค่เราสบตาหมาคือเราให้ความสนใจหมาแล้ว
นุช : เราแพ้เขาแล้ว
แน็ต : ใช่ๆ เขาได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว อ้าว เธอเห็นฉันแล้วนี่ ฉันต้องเห่าหนักกว่าเดิม เราก็เกาะกรงไปเงียบๆ พอมันหยุด พอมันนั่งปุ๊บเราค่อยหันกลับมา ทำไปเรื่อยๆ พอเราหันกลับมามันกระโดดต่อ อ่ะหันกลับไป ไม่สนใจ ฉันจะไม่สนใจพฤติกรรมนี้ทันที มันจะเป็นเรื่องตลกมากเลยถ้าใครมาดูเวลาเราฝึกหมาแบบนี้ คนก็จะงงว่าอะไรของแกวะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันสำคัญเพราะอะไร พฤติกรรมหมาที่แสดง เราจะรับรู้กับพฤติกรรมไหน ถ้าเราต้องการฝึกให้หมาเป็นหมาที่สงบ เป็นหมาที่ไม่เห่า เป็นหมาที่ไม่ทำลายข้าวของ เราต้องรับรู้เฉพาะพฤติกรรมสงบของเขา นั่นคือนั่งเงียบๆ นอนเงียบๆ
นุช : ค่ะ
แน็ต : ทั้งหมดทั้งปวงนี่ฟังเหมือนยากนะ แต่ถ้ามันทำถูก มันช็อตเดียวอยู่เลยล่ะ แต่เจ้าของต้องพร้อมนะ
นุช : เดี๋ยวต้องลองแล้ว เพราะไม่งั้นกลัวว่าเดี๋ยวยิ่งอายุมากขึ้น หมายถึงน้องหมาเนี่ย ก็คงจะยิ่งกลับมายากขึ้น
แน็ต : หนักกว่านี้แน่นอนค่ะ ประเด็นคือถ้าทำวันนี้แล้วไม่สำเร็จน่ะ หรือเจ้าของแบบไม่ไหวแล้วเว้ย ฉันต้องไปทำธุระที่โน่นแล้ว หรือคนข้างบ้านเริ่มด่าแล้วอะไรแบบนี้ แล้วเรายอมแพ้ เราให้หมาชนะ รอบสองมาทำน่ะ ยากกว่าเดิมนะ
นุช : ใช่ค่ะ คือโดนแล้วค่ะ เคยถึงตีสองน่ะค่ะ สุดท้ายต้องยอมแพ้เขา ไปเอาเขาขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นก็ไม่กล้าให้เขาไปไหนแล้วเพราะตีสองเราก็ไม่ไหวแล้ว
แน็ต : ใช่ ถึงว่าแนะนำให้ฝึกก่อน แบบว่าเอาช่วงกลางวัน เอาช่วงที่ไม่ค่อยมีคน อย่าฝึกวันอาทิตย์เพราะวันอาทิตย์คนอยู่บ้าน หรือเราจะฝึกจากข้างนอกก่อนก็ได้ เอาเขาไปที่อื่นที่แบบว่าไม่มีคนเยอะแล้วเราไปฝึกเขาตรงนั้นก็ได้ เพราะมันเป็นอารมณ์เดียวกัน เพราะเขาต้องอยู่คนเดียวให้ได้ หมาเคยนอนในกรงอยู่แล้วใช่ไหมคะ
นุช : คือจริงๆไม่เคยนอนในกรงค่ะ ที่ผ่านมาคือมีห้องให้เขาเลยค่ะ
แน็ต : อ๋อ ไฮโซ
นุช : เป็นห้องที่รับแขกที่ไม่ได้ใช้แล้วก็เลยให้เขาอยู่ในนั้นเลย แล้วช่วงสองเดือนแรกที่มาเขาก็อยู่ได้ แรกๆก็มีเห่าเราก็ไม่สน แล้วตอนนั้นเขายังเป็นหมาเด็กด้วย แล้วยังไม่มีพี่สาวบราวนี่มา
แน็ต : ยังไม่มีตัวอย่างอีกอันหนึ่งมา
นุช : ยังไม่มีนางเซเลบตัวนั้นมา แต่พอทีนี้ตั้งแต่กลับจากที่ไปต่างประเทศมาแล้ว คราวนี้ไปยอมเลย ยังไงก็ไม่ยอมเลย ทั้งมัดปาก มัดเชือก ตีขู่ก็แล้ว ก็ไม่ยอม สู้ตาย จนเราก็ไม่อยากจะตีเขาแล้ว
แน็ต : ใช่ๆ อย่าไปตีๆ เพราะมันไม่ใช่ความผิดหมา เพราะเขาเรียนรู้มาอย่างนี้ค่ะ ตอนนี้เรากำลังจะสอนเขาใหม่แล้วว่าไม่ใช่นะ มันเป็นอีกแบบหนึ่งนะ ถ้าเกิดคุณนุชไม่มีกรงให้เขานอน มีห้องให้เขานอน อย่างน้อยมีเตียงให้เขาไหม คือจุดไหนก็ได้น่ะ ขอจุดเดียว แบบเป็นเตียง 1 เตียง ฟูกหรือหมอนอะไรก็ได้ ให้รู้ว่าจุดนี้ ถ้ามาตรงจุดนี้คือที่นอนของคุณ กรุณานอนนิ่งๆ เงียบๆ
นุช : มีซื้อที่นอนให้เขาแต่เขาไม่นอนค่ะ เขาเอาเป็นที่เก็บของเล่นแทน เขาจะคาบตุ๊กตาของเขาไปไว้ที่นอน แต่ตัวเองไม่นอนตรงนั้น
แน็ต : อ๋อ โอเค เป็นหมาที่มีความเสียสละอย่างสูงส่ง
นุช : หวงของเล่นสุดชีวิตค่ะ กลายเป็นตรงนั้นเป็นที่เก็บของเล่นแล้วตัวเองก็ไม่นอน มานั่งรออยู่หน้าประตูห้องอย่างเดียวเลย
แน็ต : นั่นล่ะค่ะ ฉะนั้นเราก็ต้องทำกลับกัน ถ้าเขาเห่าเพื่อต้องการความสนใจ เราก็อย่าไปสนใจเขาแค่นั้นเอง ต้องใช้ความอดทนนิดนึงนะคะ เรื่องนี้พูดได้อย่างเดียวเลยคือความอดทนแค่นั้นแหละ ต้องอย่ายอมแพ้หมา เพราะหมาความอดทนสูงมาก
นุช : ที่คุณแน็ตพูดมาแล้วรู้สึกว่ามันน่าจะประยุกต์ได้ดี คือที่ว่าพาเขาไปออกกำลังกาย เพราะสังเกตเวลาเขาเล่นกับพี่สาวเขาโหดๆเหนื่อยๆเนี่ย วันนั้นเขาจะหลับเร็ว จะหลับง่ายด้วย ไม่งอแงเท่าไร
แน็ต : ใช่ๆ นั่นแหละค่ะ แต่จำไว้ว่ามันเป็น 5 steps เนาะ อันแรกคือออกกำลังกาย ให้ไปวิ่ง ไปเดิน ไปว่ายน้ำ ไปโดดไปอะไรก็ได้ เล่น tug ก็ได้ เล่นที่ว่าดึงของน่ะค่ะ แล้วแต่หมา อันที่สองคือฝึกสมอง คือฝึกให้นั่งลง หมอบ คอย การที่หมานั่งนิ่งๆ นั่งรอเราเตรียมอาหารหมาหรือกับข้าวเขาวางอยู่ข้างหน้าแต่เขายังต้องนั่งมอง ยังไปไปกินไม่ได้ อันนี้คือฝึกสมองหมาละ แล้วอันที่สามก็คือให้เขากินข้าว ให้เขากินข้าวเสร็จพาไปถ่าย หมาก่อน 1 ปีเขาจะขับถ่ายภายในครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นพอกินข้าวเสร็จปุ๊บ จับสายจูงเอาออกไปหาที่ถ่ายเลย อึตรงนี้นะลูก ครึ่งชั่วโมงแล้วเขาจะอึ พอเขาถ่ายเสร็จปุ๊บเราก็พากลับมา ไปที่นอน พอครบ 5 ลูปนี้ปุ๊บมันหลับทันที เพราะกินอิ่ม นอนหลับ ออกกำลังกายเรียบร้อยแล้ว ฉันนอน
นุช : ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น
แน็ต : ใช่ๆ แต่คือเจ้าของต้องทำทุกวันนะ อย่าทำแบบวันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ มะรืนทำต่อ อีกสามวันไม่ทำ อะไรประมาณนี้ เพราะหมามันจะไม่เข้าใจแล้วว่าตกลงเจ๊จะเอาไงกับหนูเนี่ย แต่ถ้าทำถูกเนี่ย อาทิตย์สองอาทิตย์คือเปลี่ยนแน่นอน อาจจะยังมีเห่าอยู่บ้าง แต่ระยะเวลาที่เขาเห่าก่อนที่จะสงบจะค่อยๆสั้นลงๆ
นุช : ค่ะ ได้ เดี๋ยวถ้าทำแล้วได้ผลยังไงจะมาแจ้งให้ช่วยฟังกันต่อนิดนึงนะคะ
แน็ต : ได้เลยๆ ถ้าให้ดีถ่ายวิดีโอไว้ให้แน็ตดูหน่อยก็ดีเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวแน็ตจะได้ช่วยชี้ให้ว่าอ๋อ โอเค จุดนี้เป็นอย่างนี้นะ ต้องทำแบบนี้นะ อะไรประมาณนี้ค่ะ มันช่วยได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน
นุช : อ๋อ ได้ค่ะคุณแน็ต ได้ค่ะ ขอบคุณมากเลยนะคะคุณแน็ต
แน็ต : ได้เลย ขอบคุณมากค่ะ สวัสดีค่ะ