แน็ต : สวัสดีค่ะ แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้ช่วงคุยกับคนใจหมา เรามีคุณรัต มากับปัญหาน้องหมาขี้ระแวง ใช่ไหมคะ
รัต : ค่ะ ใช่ค่ะ
แน็ต : โอเค น้องหมาขี้ระแวงเนาะ เขาก็เลยจะกัด จะดุ อะไรประมาณนั้นใช่ไหม?
รัต : ใช่ค่ะ ถูกต้องเลย
แน็ต : โอเค คุณรัตมีเวลาประมาณ 15 นาที เล่ามาเลยค่ะว่าอาการมันเป็นอย่างไร
รัต : คือเราขอเขามาเลี้ยงนะคะ เป็นเหมือนหมาที่เขาทิ้งๆขว้างๆอ่ะค่ะ เลี้ยงในกรงนกเล็กๆ 2 ตัว เบียดๆกัน แล้วเขาก็ค่อนข้างทำร้ายมัน เตะกรงบ้าง ตีกรงบ้าง แล้วอาหารการกินก็ไม่ค่อยมีอะไรให้กิน คือน้องไปเห็นน่ะค่ะ แล้วก็สงสาร เลยขอมาเลี้ยงก็แล้วกัน ตัวไหนก็ได้ เสร็จแล้ว เขาก็เหมือนเป็นหมาที่ขี้กลัว ขี้ระแวง ก็เลี้ยงๆไปเราก็ให้ความรักเนาะพูดถึงน่ะ อาจจะตามใจเกินไปด้วยซ้ำบางครั้ง แต่ว่าเขาก็เหมือน เขาจะไม่ชอบคนแก่ ถ้าเขาเห็นคนแก่แล้วเขาจะเห่า เขาจะแบบไม่เอา ถอย แล้วขนจะตั้ง ขนที่หลังอ่ะค่ะจะตั้ง เหมือนระแวงตลอดเวลา พอเขาโตขึ้นเรื่อยๆเนี่ย เขาจะไม่เอาใครเลย ไม่ให้ใครจับ แต่ถ้าอย่างเพื่อนมาที่บ้านบ่อยๆเนี่ย รู้จักกันแล้ว มาไม่เห่า เห็นหน้ากระดิกหาง แต่อย่ามาจับฉันนะ อย่ายื่นมือมาเด็ดขาด ถ้ายื่นมือมาฉันขู่ แบบว่าขู่ขนตั้งเลย แต่ว่าถ้าเป็นเพื่อนที่สนิทเขาจะไม่ขนตั้งนะ เขาจะขู่เฉยๆ
แน็ต : ค่ะ เหมือนเริ่มมีพัฒนาการ เริ่มดุน้อยลง แต่ก็ยังคงระแวงอยู่
รัต : ใช่ๆ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก เขาจะมองและถอยเลย แต่ถ้าอันไหนที่เขาเห็นว่าไม่ดีแล้ว เขาจะขนตั้งทันที แล้วจะหวงของค่ะ หวงของในบ้าน หวงเรา อะไรอย่างนี้ค่ะ ซึ่งเราอยากให้เขาแบบ friendly บ้าง หรือว่าเวลาเราอยากไปไหน สมมติไปต่างประเทศหรือไปต่างจังหวัดสัก 2-3 วัน เราจะได้ฝากใครไว้ได้บ้าง เคยเอาไปฝากไว้ที่สถานที่ที่เขารับฝากอ่ะค่ะ เอาไปลอง คือยังไม่ได้ฝาก คือเอาไปลองให้เขาดูว่าอย่างนี้ฝากได้ไหม เขาก็ไม่ค่อยมั่นใจที่จะรับเนาะ เพราะเขาก็กลัวว่าจะเอาออกไปจูงไม่ได้อะไรอย่างนี้ ประมาณนั้น
แน็ต : อันนี้เข้าใจเหตุผลเลย แต่คือตอนนี้น้องหมามีปัญหาอะไรกับคุณรัตไหม?
รัต : ไม่มีเลยค่ะ ไม่มีเลย เขาค่อนข้างกลัวเราด้วยซ้ำ เวลาเขาขู่ใครเสร็จเนี่ย อย่างเช่นสมมติเขานอนอยู่ เขานอนหลับเพลินๆที่บ้านอย่างนี้ แล้วเพื่อนเดินไปใกล้เขา เอื้อมไปหยิบของข้ามตัวเขา เขาก็จะแบบตกใจขึ้นมาจะกัดเลยอ่ะค่ะ เราก็จะดุเขา พอจะดุเขาจะรู้แล้วเนี่ยว่าเขาทำผิด เขาก็จะยอมรับใครไม่กี่คน 3-4 คนในบ้าน เขาจะไม่ดุกับคนในบ้าน พอโดนดุเขาก็จะไปเข้าหาคนในบ้านว่าแบบ เออ โดนดุนะอะไรอย่างนี้
แน็ต : แล้วพอเราลองเอ็ดเขาปุ๊บแล้วเขาทำอย่างไร?
รัต : นิ่ง เขาก็จะหยุด เหมือนพอเขากำลังจะเข้าชาร์จใส่คนนั้น พอเราดุปุ้บ เขาก็จะหยุด เหมือนเบรกอ่ะ หยุดกึ้ก แล้วเขาก็จะค่อยๆถอย แต่พอช่วงเวลาที่เขาพีคขึ้นมาเนี่ย เราก็ตกใจ แล้วเราไม่อยากให้หมาเราเป็นแบบนี้ อะไรอย่างนี้ คือเราไม่อยากกันเขา สมมติเพื่อนมาบ้านเราไม่อยากเอาเขาไปผูกอยู่ข้างนอก ไม่อยากเป็นแบบนั้น
แน็ต : อันนี้เข้าใจค่ะ แต่คุณรัตต้องทำใจอย่างหนึ่งเลยนะว่าอันนี้มันจะเป็นการแก้ระยะยาวเลยนะ คืออย่างบางเคสที่แน็ตได้มาอย่างนี้คือเป็นปีเลย เขาก็ไม่หายนะ แต่ว่า แทนที่ว่ามีคนเดินเข้ามาใกล้ จะขู่จะกัด อะไรอย่างนี้ เขาก็เลือกที่จะไม่สนใจ แต่ถามว่า คนแปลกหน้ามาปุ้บจะแตะตัวได้เลยไหม มันก็ยังไม่ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้กันเป็นปีอ่ะค่ะ เพราะอันนี้มันเป็นเหมือน ถ้าเป็นคนน่ะ ก็เหมือนเป็นโรคซึมเศร้าน่ะ เป็นโรคระแวง เป็นโรคอะไรพวกนี้ ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ตัวของคนเอง ซึ่งมันใช้เวลาในการแก้น่ะมันแก้นาน ไหนจะต้องมียาเข้ามาร่วมด้วย ไหนจะต้องมีการปรับพฤติกรรมตัวเองใหม่ร่วมด้วย อะไรประมาณนี้ค่ะ ของน้องหมาก็จะคล้ายๆกัน อย่างถ้าเมืองนอก สัตว์แพทย์เขาก็จะจ่ายยามาให้ เป็นเหมือนยา sedate ให้มัน calm ลง ให้มันสงบลง แต่อันนี้เราต้องดูต้นปัญหาเขาก่อน ต้นปัญหาเขา เราคิดว่าเขากลัวคน เขาระแวงว่าทุกคนที่เข้ามาหาเขาจะมาทำร้ายเขา
รัต : ใช่ๆ
แน็ต : ข้อดีมันอยู่ตรงที่ว่าเขาไว้ใจคุณรัต อย่างน้อยคุณรัตสามารถเป็นคนรับมือเขาได้ เพราะฉะนั้นเนี่ย มันเลยจะต้องเป็นหน้าที่ของคุณรัตละที่จะต้องเอ็ดเขา ถ้าต้องลงโทษก็คือต้องลงโทษ ถ้าตีก็คือต้องตี แต่ดีในขณะที่เข้าจะไปกัดคนโน้นหรือว่าเริ่มขู่คนอื่น คนนอกอะไรประมาณนี้ค่ะ
รัต : ค่ะ
แน็ต : แต่อันนี้คุณรัตต้องไปสังเกตแล้วนะว่า personal space ของหมาตัวนี้ มันเยอะขนาดไหน อย่างสมมติคุณรัตใส่สายจูงเขาใช่ไหม แล้วนั่งอยู่ข้างๆ แล้วลองให้คนแปลกหน้าค่อยๆเดินเข้ามาหา แบบช้าๆนะ แล้วให้คุณรัตลองดูว่า ระยะห่างแค่ไหนที่หมามันเริ่มขู่ คือหมาบางตัว 5 เมตรมันก็เริ่มขู่แล้วล่ะ บางตัวก็ขี้กลัวจัด 10 เมตรก็เริ่มขู่ บางตัว 2 เมตรถึงจะขู่ นั่นคือเข้ามาประชิดเขาแล้วถึงจะเริ่มขู่ อันนี้แต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน คุณรัตต้องไปดูเอาเอง วิธีฝึกอะไรเนี่ยง่ายๆเลยเนาะ ก็คือใส่สายจูง ใส่เป็นโซ่กระตุกหรือใส่เป็น slip leash น่ะค่ะ อย่าใส่เป็น harness หรือตัวรัดอก พอใส่ปุ๊บแล้วให้เขานั่งข้างๆเรา ถ้าฝึกให้เขารู้จักคำสั่งนั่งได้จะดีมากๆ
รัต : รู้จักค่ะ
แน็ต : คือแบบกระตุกสายจูงนิดหนึ่งแล้วให้นั่งเลย แต่คือเมื่อเราให้หมานั่ง มันต้องนั่ง 100% นะ
รัต : อ้อ ไม่ 100
แน็ต : นั่นแหละ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหานี้ เจ้าของส่วนใหญ่บอกหมาพี่นั่งค่ะ แต่นั่งไม่ 100 นั่นแหละ เพราะฉะนั้นช่วงที่ไม่มีคนอย่างนี้ พี่ฝึกให้เขานั่งให้ได้ 100% คือนั่งคือนั่ง ถ้าไม่ปลดคำสั่งเขาก็ไม่มีสิทธิ์ลุก
รัต : ค่ะ
แน็ต : ซึ่งมันยากนะ แต่ถ้าทำบ่อยๆ อาทิตย์สองอาทิตย์เดี๋ยวหมาจะเข้าใจแล้ว เขาจะรู้เรื่อง เพราะถ้าเกิดเราเอาเขาไปฝึกสนามจริงอย่างนี้ นั่นคือคุณรัตจะต้องใส่สายจูงให้เขา ให้เขานั่งอยู่ข้างๆ ให้คนแปลกหน้าเดินเข้ามา ถ้าสมมติ 10 เมตรปุ๊บ หมาเริ่มขู่แล้ว คุณรัตกระตุกสายจูง กระตุกแรกนะ เพราะเราต้องให้เขาหลุดออกจากภวังค์ตรงนั้นให้ได้ เพื่อให้เขากลับมาสนใจคุณรัต แน็ตขอแค่ให้เขาเอี้ยวหันมามองตาคุณรัตครั้งเดียว คุณรัตก็ชมได้เลย
รัต : โอเค
แน็ต : แบบเก่งมากลูกเก่งมาก ให้ขนมหรือให้อะไรก็ได้ เพราะตอนนี้เรากำลงัจะสอนเขาแล้วว่า เฮ้ย ถ้าเกิดมันมีอะไรทำให้แกรู้สึกไม่สบายใจน่ะ แกไม่ต้องไปขู่ ไม่ต้องไปกัดเขาก็ได้นะเว้ย แกเลือกได้ที่จะไม่ต้องไปมองมัน แล้วหันมามองฉัน แล้วฉันก็ปกป้องเธอเอง
รัต : ค่ะ
แน็ต : ทำประมาณนี้ค่ะ แต่คือแรกๆทำมันจะหันมาสบตาอยู่ 2 วินาทีนะแล้วมันก็จะหันไปใหม่ ซึ่งไม่เป็นไร ตอนนี้เรากำลังจะ reprogram เขาใหม่ละ พอ 2 วิที่เขาหันมาเราก็ชมเขาได้เลย เราลูบหัวเขาได้เลย เก่งมากๆ แต่ถ้าช่วงเขาหันกลับไปมองหาคนแปลกหน้าแล้วเริ่มขู่อีกครั้ง เราก็กระตุกสายอีกรอบหนึ่ง หรือไม่ก็ บางทีแน็ตใช้สายจูงตีปากหมา ไม่ได้ตีให้เลือดสาดนะ แต่ตีเพื่อให้มันตกใจ ให้มันแบบ เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ อะไรประมาณนี้
รัต : ค่ะๆ
แน็ต : ทำอย่างไรก็ได้เพื่อดึงความสนใจเขาให้กลับมา บางคนใช้อาหาร แต่อาหารเนี่ย หมาบางตัวถ้ามันหูบอดตาบอด พร้อมจะฆ่าแล้วเนี่ย เขาจะไม่สนใจอะไรพวกนี้เท่าไหร่ ก็เลยว่าอาหารน่ะไม่อยากให้ใช้ ใช้เป็นกระตุกสายจูงดีกว่า
รัต : ค่ะๆ
แน็ต : แล้วคือต่อไปเนี่ย สิ่งที่แน็ตคาดหวังให้ทำแบบนี้ทุกครั้งนะ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ ระยะเวลาที่เขามองตาเราเนี่ยมันจะเริ่มนานขึ้น ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามาปุ๊บเขาจะขู่น้อยลง แต่เขาเลือกที่จะหันมามองหน้าคุณรัตแทน
รัต : อือฮึ
แน็ต : ถ้าเป็นแบบนั้นน่ะ เข้าสเต็ปนั้นเมื่อไร คือเขาหันมามองหน้าเราปุ๊บเราให้ของกินเขาเลย คือตอนนี้เราจะ positive reinforcement หมาแล้วว่า การที่คุณไม่สบายใจแล้วคุณเลือกที่จะหันมามองหน้าฉันมันดีมากเลยนะ ทั้งที่เมื่อก่อนเขาเลือกอะไร ถ้าไม่สบายใจจะดุนะ ตอนนี้ที่เราจะบอกเขาคือ ถ้าไม่สบายใจ หันมามองหน้าเจ๊ เดี๋ยวเจ๊จัดการเอง
รัต : นึกออกค่ะ
แน็ต : ใช่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่เราทำได้ก็คือเท่านี้แหละค่ะ เพื่อให้เขารู้ว่า เฮ้ย ไม่ต้องเครียด เพื่อความสบายใจ ไม่ใช่ว่าคนแปลกหน้าทุกคนเข้ามาจะมาทำร้ายเรา ประมาณนั้น นึกออกไหม?
รัต : ค่ะ คือเพราะเขาไม่ไว้ใจใครใช่ไหมคะคุณแน็ต เพราะอย่างเพื่อนที่สนิทอย่างนี้ เขาก็เข้าใกล้ได้ คือเขามานั่งข้างๆ เอาหน้าจะมาชนหน้าเพื่อนอย่างนี้ แต่อย่าเอื้อมมือมาจับฉันนะ แบบนั้นก็คือความไว้ใจในระดับหนึ่งถูกต้องไหมคะ?
แน็ต : ใช่ๆ คือสำหรับหมา ความไว้ใจมันเป็นสิ่งที่เราต้อง earn มันมาอ่ะค่ะ เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้หมารู้ว่าฉันไว้ใจแกได้นะ มันไม่เหมือนมนุษย์ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่จะไว้ใจกันเยอะเกินไป แต่หมามันจะไม่ใช่ แต่หมาบางตัวมันก็มาแบบ เอาเลย เจ๊อยากทำไรเจ๊ทำ ไว้ใจเจ๊เต็มที่
รัต : ใช่ๆ
แน็ต : ใช่ แต่หมาแต่ละตัวมันก็มาไม่เหมือนกันอ่ะเนาะ มันก็เหมือนคนน่ะ มันก็มาไม่เหมือนกัน อะไรประมาณนี้ และยิ่งเขามีพื้นเพจากอดีตที่ว่าอยู่ในกรงแคบๆ แล้วโดนคนทำร้ายผ่านกรงอะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้มันแย่
รัต : ค่ะ
แน็ต : เพราะฉะนั้นตอนนี้เราทำหน้าที่ที่ดีได้คืออะไร เราต้องเป็นจ่าฝูงที่สงบ เราต้องสงบให้ได้เลยแหละ คืออย่าไปโกรธใส่มัน อย่าไปบ้าตามมัน ถ้ามันเริ่มดุ เราอย่าไปดุมัน ไอ้ที่ว่าให้ตีให้กระตุกสายจูงน่ะ คือให้ทำด้วยความสงบนะ แบบไม่ ไม่ก็คือไม่ อะไรประมาณนี้ แล้วช่วงที่เขาอยู่ในบ้านให้ใส่สายจูงไว้หน่อยก็ดี
รัต : ค่ะ
แน็ต : เผื่อเวลาแบบเขานอนอยู่ใช่ไหม แล้วเพื่อนตัวเองมา หมาที่ขี้ระแวงน่ะ ถ้าเรารู้ว่าเขากำลังหลับอยู่ แล้วเราต้องไปทางนั้นน่ะ แน็ตแนะนำให้ส่งเสียงเรียกมันก่อน
รัต : อืม
แน็ต : อย่าเดินไปเลย เพราะมันจะตื่นมาแล้วมันจะรู้ตัวตอนเราอยู่ประชิดมันแล้ว และนี่คือเปอร์เซ็นที่เขาจะกระโจนกัดสูงมาก
รัต : ค่ะ
แน็ต : ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เพราะงั้นถ้าเกิดเราเห็นมันนอนอยู่ตรงใกล้ๆตู้เย็น แล้วเพื่อนจะเดินไปเอาของที่ตู้เย็น ส่งเสียงเรียกมันเลย ให้มันรู้ว่า เฮ้ย ตื่นๆ กำลังจะไปทางนั้นนะ อย่างน้อยเขาก็จะตื่นมามองว่า อ๋อ มีการเดินมาทางนี้นะ หมามันก็จะเลือกที่จะเดินไปทางอื่น
รัต : ค่ะๆ
แน็ต : แต่ๆ ถ้ามันเลือกที่จะนั่งอยู่หน้าตู้เย็นแล้วขู่เนี่ย อันนี้มันเป็นหน้าที่คุณรัตละที่ต้องเดินไปจับสายจูงแล้วกระตุกมันออกมา
รัต : ค่ะ
แน็ต : ไม่ใช่ลากมันออกจากตรงนั้นนะ คือกระตุกเพื่อให้มันหยุด แล้วให้มันเดินออกมาจากตรงนั้นเอง
รัต : โอเค
แน็ต : ทั้งหมดทั้งมวล key หลักมันอยู่ที่ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เขาต้องเป็นคนเลือกที่จะทำ เขาต้องเป็นคนเลือกที่จะเดินออกจากตู้เย็นตรงนั้นเอง และเขาต้องเป็นคนเลือกที่จะหันมามองหน้าคุณรัตเองเวลามีคนเดินเข้ามาใกล้ ตรงนี้งงไหม?
รัต : ไม่งงค่ะ ไม่งง
แน็ต : เพราะส่วนใหญ่เจ้าของที่จะทำผิดก็คือ หมาอยู่หน้าตู้เย็น..
รัต : ไปบังคับเขา
แน็ต : ใช่ ก็คือจับใส่สายจูงแล้วลากออกไปเลย ถามว่าหมาเรียนรู้อะไรไหม หมาไม่เรียนรู้
รัต : อื้มๆ ค่ะ
แน็ต : ซึ่งตอนนี้เราต้องการให้เขาเรียนรู้ ประมาณนั้น แต่ต้องมีความอดทนสูงมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ใช้เวลากันเป็นปีเลยค่ะ กว่าหมามันจะนิ่ง เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้
รัต : ได้ค่ะ
แน็ต : ส่วนเรื่องหวงอาหาร หวงของนี่คือหวงกับคนแปลกหน้าหรอคะ หรือว่าหวงกับเจ้าของ
รัต : เมื่อก่อนหวงกับเรานะคะ คือถ้าให้ข้าวแล้วจะไปเอาชามข้าวออกมาไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ลดลงเยอะ เราก็พยายามที่จะแบบว่า เวลาเขากินอะไรเราก็จะขอได้ไหม? จับหน่อยนะ อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็จับได้ อย่างให้ขนมหรือชิ้นไก่อบแห้ง เราก็ให้เขาไป เขาก็วาง เขายังไม่แทะ เราก็จะแบบขอคืนได้ไหม? แล้วก็จะจับ เขาก็หันมาแล้วก็มองแล้วก็มางับต่อ เอาขนมกลับไปอย่างนี้ แต่ว่าไม่ได้ขู่ ไม่ขู่แล้ว
แน็ต : อ๋อ แต่ก็ไม่ให้
รัต : ใช่ๆ แต่ก็ไม่ให้ คือแบบจะมอง แล้วก็งับต่อ ของฉันนะ อะไรอย่างนี้
แน็ต : นั่นแหละ แล้วถ้าเรายังฝืนจะไปเอาล่ะ?
รัต : ได้ค่ะ ยังได้อยู่
แน็ต : เขาก็ปล่อยทิ้งหรอ?
รัต : เขาก็เหมือนปล่อยทิ้ง อ่ะ ฉันยังไม่แทะ เราก็จับมาอีกที เขาก็แบบมอง แล้วก็ เอาคืนมานะ อะไรอย่างนี้ แบบเอาของฉันคืนมานะอะไรอย่างนี้ คือช่วงหลังจะแบบยังได้บ้าง เมื่อก่อนไม่ได้เลย เมื่อก่อนจะขู่ มีเสียงขู่ออกมาอย่างนี้ค่ะ
แน็ต : โอเค ก็ยังดี แสดงว่าหมาคุณรัตตัวนี้เขามีการเรียนรู้ เขาเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง แต่มันคือต้องใช้เวลาหน่อย คือหมาแน็ตแต่ละเคสที่รับมาคือมันไม่เรียนรู้ที่จะปล่อยวางเลย เจ้าของก็ไม่เคยสอนให้มันปล่อยวาง หมามันก็เครียดของมันไปเรื่อยๆ
รัต : นี่เขาก็ค่อนข้างจะเชื่อเรา เวลาเขาหลุดหรืออะไรอย่างนี้ เราดุเขาก็จะหยุด เหมือนเบรกอ่ะ วิ่งๆอยู่เบรกเลย ถอยหลัง แล้วเบรกเลย เหมือนฉันได้ยินเสียงนี้แล้วฉันหยุดเลย
แน็ต : โอเคดี ถ้างั้นอย่างนี้ก็ไม่ค่อยหนักเท่าไร แต่คือเจ้าของต้องสงบและต้องมั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่างถ้าสมมติจะไปเอาของกินหมาอย่างนี้ใช่ไหม แทนที่จะแบบ ขอได้ไหมๆ? เราอยากให้คุณเข้าไปในพลังงานที่แบบ inner ในความรู้ที่แบบว่า อันนี้ของฉัน ฉันจะเอา มันจะไม่มีการขอแล้ว
รัต : อืม ค่ะๆ
แน็ต : คือหมากับหมากันเองมันไม่มีการขอนะคุณ มันมีแต่เอากับไม่เอา แค่นั้นจบ มันจะไม่มีเดินมาขอได้ไหมๆ อีกตัวหนึ่งซัดเปรี้ยงไปแล้ว ตอนนี้ถ้าเขาทำอะไรไม่ถูก มันก็จะเป็นหน้าที่คุณแล้วที่ต้องลงโทษเขา
รัต : ค่ะ
แน็ต : ซึ่งในการลงโทษเนี่ย เราก็ไม่แนะนำให้ฟาดเปรี้ยงนะ การลงโทษคืออย่างไร ถ้าเกิดเขาขู่ เราก็ต้องเอ็ดเสียงดัง กระตุกสายจูงให้แรง ถ้าจะต้องจิ้มเข้าสีข้าง แรงไหม ก็ต้องแรง หรือถ้าต้องเอาสายจูงตีปาก ก็ต้องแรง
รัต : ค่ะ
แน็ต : แต่แน็ตอยากให้ทำครั้งเดียว ละให้หมารู้เลย บางคนจะแบบ เอาสายจูงตีปากหมาแบบ นี่แน่ะๆๆ ตีไป 20 ครั้งหมาก็ไม่รู้เรื่อง ทำอะไรของมันก็ไม่รู้ อะไรประมาณนี้ แต่แน็ตอยากให้เอาสายจูงตีปากหมา ป้าบ! ทีเดียวแล้วหยุดเลย เพราะเราจะส่งข้อมูลให้หมาแล้วส่งทีเดียวรู้เรื่อง เข้าใจ ถ้าเขายังทำต่อก็ไม่เป็นไร เราตีอีกรอบ อย่างน้อยมันจะมีช่วงเวลาที่เขาหยุดในการทำ เขาหยุดการกระทำตรงนั้น 5 วิ 3 วิ อะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นจำไว้นะคะ ว่าถ้าจะต้องลงโทษมันก็ต้องลงโทษ เพราะหมาคุณกำลังจะไปทำร้ายคนอื่น เจ้าของส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าที่จะลงโทษหมาตัวเอง แน็ตก็จะบอกว่า มันเป็นหน้าที่คุณนะทีต้องลงโทษหมา ถ้าคุณไม่ลงโทษหมาแล้วหมาไปกัดคนอื่นน่ะ คนอื่นมาวางยาหมาเรา คนอื่นมาตีหมาเรา หนักหน่อยคนอื่นเอาปืนมายิงหมาเรา มันหนักกว่าเราลงโทษหมาเองอีกนะ นั่นล่ะค่ะ
รัต : ค่ะ ได้เลย ยังไงจะเริ่มลองนะคะ ลองดูว่าจะมีใครเป็นหน่วยกล้าตายเดินเข้ามา
แน็ต : ถ้าเอามาชะอำได้แน็ตก็ยินดีเป็นหน่วยกล้าตายให้นะ เพราะถือว่าเราช่วยๆกัน เพราะว่าหมาแบบนี้ เขายังต้องอยู่กับเราไปอีกนานน่ะ ถ้าเขาอยู่กับเราด้วยความรู้สึกระแวงคนแบบนี้ มันก็ทำให้เจ้าของต้องใช้ชีวิตแบบ คุณออกสังคมไม่ได้ คุณไปไหนก็ไม่ได้ มันเหมือนอยู่ในกรงขังระหว่างเรากับหมา ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีเท่าไร ประมาณนี้
รัต : ได้ค่ะ
แน็ต : เพราะงั้นถ้าไม่ไหวก็โทรมาบอกนะ แล้วก็ถ้าส่งวิดีโออัพเดตมาให้แน็ตดูด้วยก็ดีนะคะ
รัต : ได้ค่ะๆ
แน็ต : โอเค มีคำถามอะไรอีกไหม?
รัต : ไม่มีแล้วค่ะ เข้าใจชัดเจน
แน็ต : ชัดเจนรู้เรื่อง
รัต : ค่ะ
แน็ต : โอเค ได้เลย ขอบคุณมากนะคะ
รัต : ค่ะ ขอบคุณค่ะ
แน็ต : ค่ะ สวัสดีค่ะ
รัต : สวัสดีค่ะ