แน็ต : สวัสดีค่ะ แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้อยู่ช่วงคุยกับคนใจหมา เรามีปัญหาระหว่างเจ้าของกับน้องหมาไม่ยอมเดินตามสายจูงอีกเหมือนเดิม โอเค สวัสดีค่ะ ชื่ออะไรเลย
ชาญ : ชื่อชาญครับ
แน็ต : ชื่อคุณชาญ โอเค ปัญหามีอะไรคะ มีเวลา 15 นาที โอเค เริ่มเลย
ชาญ : โอเค ก็คือช่วงตอนเย็นผมชอบพาหมาไปวิ่งน่ะครับ พอแค่มีปฏิกิริยาว่าจะพาไปมันก็จะตื่นเต้นแล้วครับ ยิ่งถือสายจูงยิ่งจะวิ่งไปที่หน้าประตูเลยครับ แล้วก็กระโจนทันที
แน็ต : โอเค แล้วระหว่างที่เดินนี่ช่วงแรกๆก็คือมีปัญหาใช่ไหมคะ
ชาญ : ครับ
แน็ต : คือเขาจะวิ่งแล้วเขาจะดึงหน้าเราอย่างเดียวเลยประมาณนั้นใช่ไหม
ชาญ : ใช่ครับ วิ่งไปตามจุดที่เขาจะไปน่ะครับ
แน็ต : อ๋อ คือหมาพาคนเดินว่างั้น ไม่ใช่คนพาหมาเดิน
ชาญ : ครับ ในช่วงไป แต่ช่วงกลับคนพาเดินครับ
แน็ต : อ๋อ โอเค สลับหน้าที่กันดีมาก มีน้องหมากี่ตัวนะ 3 ตัวใช่ไหม
ชาญ : 3 ตัวครับ มีโกลเด้น บีเกิ้ล แล้วก็เฟรนช์บูลด็อกครับ
แน็ต : อ๋อ แล้ว 3 ตัวนี้พันธุ์แท้หมดเลยไหมคะ อุ๊ย น่ารัก
ชาญ : โกลเด้นนี่น่าจะไม่แท้ครับ เพราะว่า คือซื้ออยู่หน้าบิ๊กซี บีเกิ้ลนี่แท้เฟรนช์บูลด็อกนี่ก็แท้ครับ
แน็ต : อ๋อ โอเค โอเคได้เลย มันค่อนข้างจะเป็นสากลโลกเลยนะคะที่ว่าเวลาพาหมาไปเดินเล่นอย่างนี้ หมาเห็นสายจูงแล้วก็ตื่นเต้นอะไรประมาณนี้ คืออย่างแรกที่จะแนะนำเลยนะคะ ก็คือระหว่างวันเนี่ย แน็ตแนะนำให้ตัวเอง เหมือนอยู่ดีๆก็เดินไปหยิบสายจูง โดยที่ไม่มีเหตุผล โดยที่ไม่ใช่เวลาเดินเล่น แบบ random มากเลย ให้เขาเดาไม่ถูกว่าเราจะทำอะไรกับสายจูง เราไปหยิบสายจูงมาปุ๊บแล้วเราก็แค่เล่นๆกับสายจูงเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับหมานะ แค่หยิบสายจูงมาเล่นๆเฉยๆ แล้วเราก็เอากลับไปวางไว้ที่เดิม นึกออกไหมคะ
ชาญ : ครับ
แน็ต : คือ ณ ตอนนี้ที่หมาเข้าใจ คือถ้าเขาเห็นสายจูงปุ๊บ แปลว่ากำลังจะไปเดิน เรากำลังจะโปรแกรมความคิดเขาใหม่แล้วว่า ทุกครั้งที่เห็นสายจูงเนี่ย มันไม่ได้หมายความว่าจะไปเดิน สายจูง ไม่ควรจะคู่กับอาการตื่นเต้น
ชาญ : โอเค
แน็ต : โอเค วิธีไม่ให้มันตื่นเต้นก็คือ หยิบสายจูงมาแล้วไม่ให้มันรู้ว่าจะไปทำอะไร วันหนึ่งก็ประมาณสัก 4-5 ครั้งก็ได้ค่ะ คือหยิบมา จับๆๆ แล้วก็เอากลับไปแขวนที่เดิม แล้วก็ไปเดินทำอย่างอื่นต่อ หมาก็จะแบบ เกิดอะไรขึ้นวะ ทำไมวันนี้ไม่ไปเดิน จับสายจูงทำไมไม่ไปเดิน อะไรแบบนี้ แล้วพอทำไปเรื่อยๆเนี่ย หลังๆแค่จับสายจูงเขาก็จะแค่มองหน้าเรา
ชาญ : ครับ
แน็ต : นั่นคืออย่างแรกที่แนะนำให้ทำ คือไม่ให้เขารู้ว่าการจับสายจูงจะมีอะไรให้ตื่นเต้นเกิดขึ้น แล้วพอถึงช่วงเวลาที่เดินกับเขาจริงๆเนี่ย แน็ตแนะนำว่าอย่าเพิ่งใส่สายจูงให้เขาตอนที่เขาตื่นเต้น เพราะถ้าใส่สายจูงแล้วพาเดินเขาตอนเขาตื่นเต้นเนี่ย เขาจะดึงตลอดเวลา
ชาญ : ครับ
แน็ต : ทำได้ไงคือ หยิบสายจูงมา พอเขาเห็นสายจูงแล้วเขาไม่ตื่นเต้นแล้วเนี่ย เขาก็จะนั่งอยู่เฉยๆ รอให้เขานั่งนิ่งๆ ก็คือก้นต้องไม่ส่ายเหมือนเต้นซัลซ่านะ คือนั่งนิ่งๆไปเลย แล้วเราก็ใส่สายจูงให้เขา แล้วเราก็ค่อยพาเดิน ทุกอย่างช้า ทำครั้งสองครั้งแรกเนี่ยมันจะใช้เวลาหน่อยหนึ่ง บางตัวใช้ถึงครึ่งชั่วโมงกว่าเขาจะเข้าใจว่าเราต้องการอะไร
ชาญ : ครับ
แน็ต : คือน้องหมาต้องนิ่ง ไม่ตื่นเต้น เขาถึงจะได้รางวัลโดยการที่พาออกไปเดินเล่น เวลาเปิดประตูก็เหมือนกัน พอเปิดประตูปุ๊บน้องหมาจะต้องไม่วิ่งตัดหน้าออกไป แต่น้องหมาจะต้องนั่งรอให้เราเดินออกไปก่อน แล้วเขาค่อยเดินตามออกมา ถ้าทำเริ่มแรกด้วยการที่เขาไม่ตื่นเต้นได้เนี่ย เดินต่อไปเขาก็จะไม่ตื่นเต้น
ชาญ : ครับ
แน็ต : แต่คือมันเป็นอะไรที่เราต้องทำทุกครั้ง มันไม่ใช่ว่าทำแค่ครั้งเดียวแล้วมันจะสามารถซ่อมได้เลยเนาะ สองสามครั้งแรกมันจะใช้เวลา แต่ทำไปนานๆเนี่ยเวลามันก็จะน้อยลงๆ จากที่เมื่อก่อน 20 นาที แต่ตอนนี้อาจจะ 10 นาที 5 นาที ต่อมาแค่เห็นสายจูงมันก็เฉยๆแล้ว อะไรประมาณนี้
ชาญ : โอเค มันต้องอยู่ที่ใจเราด้วยว่างั้น
แน็ต : ใช่ๆ คือในความคิดแน็ตนะ มันเหมือนแบบพอหมาตื่นเต้นเราก็เลยต้องรีบ เพราะมันตื่นเต้นเราก็เลยต้องรีบไปกับเขา มันเลยกลายเป็นว่าหมามันเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าฉันอยากให้ผู้ชายคนนี้ทำอะไรบางอย่าง ฉันควรจะตื่นเต้น
ชาญ : อื้อครับ ใช่ครับ
แน็ต : ซึ่งหมาตื่นเต้นมันไม่ใช่หมาปกติไง หมาปกติเขาจะต้องไปตื่นเต้น เขาจะต้องนิ่งๆ เขาต้องเฉยๆ เวลาเขาไปเดินกับฝูงเขาเองเขาก็ไปเดินเฉยๆ ไม่มีใครตื่นเต้นอะไรกับใครเลย
ชาญ : โอเค ผมก็สังเกตเหมือนกันเวลาเวลาเขาวิ่งเสร็จแล้ว ผมก็ปล่อยสายให้เขาไป พอเขาวิ่งเสร็จแล้ว เรียกเข้าสายง่ายมากเลย เขาก็เดินกลับมาอย่างนิ่งเลย
แน็ต : เพราะมันเสร็จเขาแล้วไง เพราะมันเหมือนเขาสนุกของเขาแล้วไง นี่ยังดีนะว่าเรียกแล้วกลับมาน่ะ คือคนส่วนใหญ่เรียกไม่กลับด้วยซ้ำ จนกว่าหมาเหนื่อยแล้วหมาจะกลับมาเอง อะไรประมาณนี้ค่ะ เพราะฉะนั้นเขาเหมือนทำดีมาครึ่งหนึ่งแล้วน่ะ แค่ว่าเริ่มต้นให้มันดีก็เท่านั้นเอง แล้วเวลาใส่สายจูงนี่ใช้สายจูงแบบไหนคะ
ชาญ : เป็นสายจูง เป็นแบบห่วงครับ เป็นแบบนี้ครับ
แน็ต : อ๋อ เป็นโซ่กระตุกใช่ไหม
ชาญ : ใช่ครับ เป็นโซ่กระตุก
แน็ต : โอเคเลยๆ ใช้ถูกสายแล้ว เวลาเดินกับหมานะ เขาต้องเดินข้างๆเรานะ หมาต้องไม่ลากเรา
ชาญ : ใช่ครับใช่
แน็ต : แต่เข้าใจว่า ณ ตอนนี้หมายังลากเราอยู่ ประมาณนั้นป่ะ
ชาญ : ใช่ครับ ลากตอนไป แต่ตอนกลับเราก็ไม่เชิงพามา เขาก็อยู่ข้างๆตอนกลับ
แน็ต : คือเขาเหนื่อยแล้วไง พอเขาเหนื่อยปุ๊บเขาก็เลยเริ่มไม่มีปัญหาอะไร แต่ขาไปน่ะ คือแนะนำเลยพอใส่ห่วงเข้าไปในคอใช่ไหมคะ เอาให้ห่วงเนี่ยมันอยู่หลังหู ล็อคไว้หลังหูเลย ถ้าเกิดใช้สายจูงแบบนี้ที่ไม่ใช่โซ่กระตุกนะ อันนี้มันเป็นสายจูงของมันเองเลย มันจะมีห่วงนี้มาให้ อันนี้มันจะทำหน้าที่ล็อคไว้ไม่ให้สายจูงหลุดขยายออกมากจนตกมาตรงต้นคอหมา คือทำไงก็ได้ให้มันอยู๋หลังหูมหาตลอดเวลา แล้วเวลาเดิน ณ ตรงนั้นแล้วเนี่ยเราจะสามารถบังคับหัวมันได้ดีกว่า แล้วคืออะไร เราจับสายจูงสั้นๆด้วย คือสั้นแต่ไม่ตึงนะ ยังหย่อนอยู่ เพราะเวลาถ้าเขาเริ่มเดินนำหน้าเราเนี่ย เราจะรุ้สึกทันที คือถ้าจับเต็มสายจูงน่ะ กว่าเราจะรู้สึกคือหมาเดินไปนู่นแล้ว แต่ถ้าเราจับสั้น ถ้าเขาเดินขึ้นมานิดหนึ่งมันจะตึงแล้วเราจะรู้สึกทันที พอเรารู้ว่าเขาเริ่มเดินนำหน้าปุ๊บ คือพอสายตึงปุ๊บคุณกระตุกเลย กระตุกนี่คือแน็ตแนะนำว่าให้กระตุกแรง เพราะเราต้องการส่งข้อความแค่ครั้งเดียวแล้วรู้เรื่อง ว่าการเดินนำหน้ามันไม่โอเค อะไรประมาณนี้ กระตุกอย่างไร กระตุกเข้ามาข้างๆก็ได้ค่ะ กระตุกมาซ้าย กระตุกขึ้น แต่อย่ากระตุกไปหลัง ถ้ากระตุกไปหลังหมามันจะยิ่งวิ่งไปข้างหน้า
ชาญ : อ๋อ ผมชอบกระตุกมาข้างหลัง
แน็ต : ใช่ มันจะยิ่งไปข้างหน้ามากขึ้น ใช่ บวกกับว่าอันนี้ถ้าอยู่หลังหูน่ะมันจะคุมดีกว่า ถ้ามาอยู่ตรงต้นคอ ซึ่งปลอกคอส่วนใหญ่จะอยู่ตรงนี้ แล้วพอเรากระตุกหลังน่ะ มันจะเหมือนใส่สายรัดอกสุนัข หมามันจะยิ่งดึงไปข้างหน้าทันที เพราะฉะนั้นให้อันนี้อยู่หลังหู เรากระตุกข้างๆ มันเสียหลักละ หมาเริ่มแบบ เฮ้ยๆเกิดอะไรขึ้นวะ เดินอยู่ดีๆทำไมตัวฉันเอียง แล้วเขาก็จะเริ่มมาสนใจเราแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมฉันเอียง อะไรประมาณนี้ แล้วคือถ้าทำต้องทำทุกครั้ง อย่าให้มันเป็นนิสัยค่ะ เดินนำหน้าคนอะไรประมาณนี้
ชาญ : คือตัวโกลเด้นผมฝึกตั้งแต่เด็กคือตัวแรก ฝึกก็คือไปตัวเดียวตลอดคือได้ คือเวลาเดินกลับเขาเดินข้างขา แต่พอมีตัวสองตัวสามก็ไม่ค่อยมีเวลาฝึกเขาครับ โดยเฉพาะเฟรนช์บูลด็อกตัวสุดท้ายนี่กระโจนอย่างเดียวเลยครับ ตอนขากลับจะเป็นตัวเดียวที่เดินนำหน้าตลอด ผมก็กระตุกมาข้างหลังนี่แหละ ยิ่งกระตุกมาข้างหลังก็ไม่หยุดสักที
แน็ต : มันก็ยิ่งไปข้างหน้า
ชาญ : บางทีก็เอาเท้าไปสะกิดแรงๆนิดหนึ่ง
แน็ต : tap ก็ได้ บางทีเราก็ใช้แบบนี้ แต่ส่วนใหญ่เราก็ใช้กับหมาตัวใหญ่อ่ะเนาะ คือเอาส้นเท้าไปเตะข้างหลังเขาน่ะค่ะ คือเพื่อเหมือนกำลังสะกดให้เขารู้ว่าไม่ใช่นะเว้ย แต่ถ้าบางทีกระตุกอ่ะ กระตุกแรงๆทีเดียวก็อยู่ แน็ตแนะนำว่าถ้างั้นน่ะ เดินทีละตัวก่อน เอาเฟรนช์บูลด็อกมาเดินก่อนเพราะเขามีปัญหาเยอะสุด เพราะฉะนั้นตัวนี้ต้องใช้เวลาเยอะสุด
ชาญ : ครับ
แน็ต : คุณก็ใช้เวลากับหมาตัวนี้แหละตัวเดียวไปก่อน ถ้าเขาเดินโอเคเราค่อยเอามาร่วมเดินกับตัวอื่น แต่ถ้าเจ้าของมีความเป็นจ่าฝูงสูง คือคุณมั่นใจ คุณสงบ คุณรู้ว่าจะไปไหน ทำอะไร เดินอย่างไร หมาปกติจับสายจูงเขาจะเดินตามข้างๆทันที ถ้ามันเดินไปข้างหน้านิดหนึ่ง เรากระตุกนิดเดียวเขาก็จะเข้าใจแล้วว่า อ๋อ โอเคไม่ได้ คนนี้ไม่ยอมให้เดินนำหน้า
ชาญ : แต่ตอนนี้เขารู้แค่ตำแหน่งว่าเขาอยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวาเฉยๆ ฝึกได้ แต่ว่าเฟรนช์เนี่ยมีปัญหาสุด มันรู้ว่าตัวเองอยู่ข้างซ้ายข้างขวาครับ แต่พอเวลาจะกลับเนี่ย กระโจนวิ่งอย่างเดียว
แน็ต : อืม นั่นแหละ ของแน็ตนี่แน็ตไม่ mind นะว่าเขาจะอยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวา อยู่ข้างไหนก็ได้ ตราบใดที่อยู่ข้างๆ
ชาญ : พอเขาวิ่งเสร็จปั๊บก็มาอยู่ตำแหน่งใครตำแหน่งมันเลย
แน็ต : ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ดี แต่ก็นั่นแหละ แน็ตแนะให้ฝึกไปก่อน ฝึกเฟรนช์ก่อน ถ้าให้ดีอีกอย่างหนึ่ง เวลากระตุกน่ะให้ทำเสียงด้วย อย่างหมาที่บ้านอย่างนี้ ถ้าแน็ตกระตุกแน็ตจะทำเสียงด้วยแบบ ชู่! หรือ เฮ้ย! อะไรประมาณนี้ เพื่อที่ต่อไปเราไม่ต้องกระตุกสาย แค่ทำเสียงเดี๋ยวเขาก็หยุดเอง
ชาญ : ครับ
แน็ต : เพราะหมาบางตัวมันจะท้าทายเราตลอดเวลาแหละ มันเหมือนเด็กน่ะ ดูสิว่าฉันจะได้เท่าไรนะ ลองตบมาหนึ่งข้าง ถ้าข้างนี้ไม่ห้าม เดี๋ยวอีกข้างจะเริ่มตบมา แต่ถ้าเขาเริ่มนำมานิดหนึ่งแล้วเราหยุดเขาตั้งแต่ตรงนั้นน่ะ มันก็จะเริ่มไม่ปีนเกลียว
ชาญ : อ๋อ
แน็ต : ซึ่งใช้เสียงด้วยก็ได้ มันก็จะเข้าใจว่า อ้อ โอเค ไม่ได้ ไอ้คนนี้มันไม่ยอม มันรู้ว่าฉันกำลังจะเริ่มเดินนำหน้า
ชาญ : จัดการไอ้ตัวเล็กก่อนครับ พอจะไปเนี่ยไอ้ตัวพี่นี่หอนเรียกใหญ่เลย แบบขอไปด้วยๆ ไอ้เราก็ใจอ่อน เคยทำครั้งหนึ่งครับ เราก็ใจอ่อน ก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก ก็กระโจนออกไป
แน็ต : อย่าใจอ่อน ใจอ่อนไม่ได้นะ ไม่งั้นหมามันจะเป็นนิสัยเลย เขาจะรู้เลยว่าเขาจะเอาอะไรเขาต้องร้อง แล้วต่อไปมันจะร้องหนักขึ้น
ชาญ : โอ้ นี่เป็นทาสหมา
แน็ต : ใช่ ไม่ใช่ทาสแมว เราเป็นทาสหมา ไม่ดีนะคะ ให้มันคุมชีวิตเนี่ย เราต้องคุมชีวิตหมาสิคะ
ชาญ : โอเค ต้องใจแข็งก่อน
แน็ต : ใช่ๆ ต้องใจแข็ง แล้วเวลาทำโทษเขาน่ะก็ต้องทำโทษจริงๆเลยนะ ให้เขารู้ว่าไม่ได้นะ ไม่ใช่กระตุกเบาๆแบบยึกๆๆ หมาก็ไม่รู้จะเอาอะไร คือแกจะห้ามฉันหรือแกจะเล่นกับฉัน อะไรประมาณนี้ เหมือนเวลาเราทำโทษเด็กน่ะ เวลาเราทำโทษก็เพื่อให้เขารู้ใช่ไหม ว่าอันนี้มันไม่ได้นะ จะอยู่ๆดีไปวิ่งตัดหน้าถนนเลยมันไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นต้องใจแข็งเข้าไว้นะตัว
ชาญ : ครับ
แน็ต : จริงๆ เลี้ยงหมาต้องใจแข็ง
ชาญ : แล้วการทำโทษต้องเป็นอย่างไรครับ ต้องตีไหมครับ หรือว่าแค่ขึ้นเสียง ทำโทษหมาจริงๆน่ะครับ ที่ถูกต้องเราควรจะทำโทษแบบไหน อย่างเช่น เดินอยู่บ้านเนี่ยแหละ เขาทำผิดบางอย่างที่เรากำหนดกฎเกณฑ์ไว้ อย่างเช่นสมมติมันไปกัดกระดาษอย่างนี้ เราทำโทษเขาอย่างไรดีครับ ตีหรือว่าดุ
แน็ต : ดุ คือถามว่าทำโทษอย่างไร ทำโทษอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่คุณไม่ทำโทษด้วยอารมณ์โกรธน่ะ ถ้าเราตีหมาด้วยอารมณ์โกรธ แปลว่าเรากำลังทำร้ายหมา แต่ถ้าเราตีหมาด้วยความสงบ เวลาแน็ตลงโทษหมาที่บ้านอย่างนี้ คือเราจะต้องสงบเลย เราไม่ได้ทำโทษเขาด้วยความโกรธ เรากำลังทำโทษเขาเพื่อบอกให้เขารู้ว่าอันนี้มันไม่ดีนะ แล้ววิธีทำโทษ ทำโทษอย่างไร ถ้ามีสายจูงอยู่คุณก็กระตุกสายจูง ถ้าสายจูงไม่มีจะทำเสียงดังๆก็ได้ ให้หมาตกใจ แบบหมาบางตัวกระโดดขึ้นโต๊ะอย่างนี้ แบบทำเสียงดังๆ แบบเอาหม้อมาตีดังปั้งอย่างนั้นน่ะ ตกใจไม่ขึ้นอีกเลย แต่อย่างถ้ากัดกระดาษอย่างนี้ ถ้าเห็นมันเริ่มอ้าปากจะงับน่ะ ทำเสียงได้เลย ทำเสียงแบบว่าจะหยุดมันเลย แต่ถ้ายังไม่หยุดอีก ใช้ 2 นิ้วก็ได้ค่ะ จิ้มเข้าไปตรงสีข้าง สีข้างหมา แต่ถ้าจิ้มไม่ถูกก็ค่อนข้างที่จะอันตรายนิดหนึ่ง แต่เราจะจิ้มเพื่อให้เขารู้ว่ามันไม่โอเคนะ เหมือนเวลาหมากันเองน่ะ เวลามันเตือนกันมันจะกัดกัน ซึ่งเขากัดกันไม่ใช่เพื่อเอาให้ตาย มันกัดเพื่อจะกดอีกตัวหนึ่งให้รู้ว่ามันไม่โอเคนะเว้ย เรากำลังใช้วิธีเดียวกัน แต่แทนที่เราจะไปกัดหมา แน็ตก็แนะนำว่าให้เราฉกหมาแทน ฉกแรงนะ ฉกให้เขารู้เลยว่ามันไม่โอเค นั่นแหละ แต่จำไว้ว่าถ้าจะลงโทษหมาอย่าลงโทษด้วยอารมณ์โกรธ
ชาญ : โอเค เป็นบ่อย
แน็ต : ใช่ เพราะเราน่ะ ต่อให้ตะโกนเสียงดังขนาดไหน ถ้าเราทำด้วยอารมณ์โกรธน่ะ เขาก็ไม่ฟัง
ชาญ : ครับ
แน็ต : แต่ถ้าเราไม่ทำด้วยอารมณ์โกรธนะ เราทำด้วยความที่แบบว่าชัวร์ มั่นใจ ไม่ก็คือไม่ แล้วทำด้วยความสงบ เขาก็จะฟัง เพราะมันคือสิ่งที่จ่าฝูงควรจะมีให้ลูกฝูง นึกออกไหม สงบ สยบทุกความเคลื่อนไหวค่ะ ไปลองวิชานี้ได้ ต้องพัฒนากัน แต่ละคนต้องอาศัยวิชามารของแต่ละคนกันเอง
ชาญ : ครับ
แน็ต : นั่นแหละ มีคำถามอีกไหม เคลียร์ไหม
ชาญ : เคลียร์ครับ
แน็ต : โอเค มีอย่างอื่นอีกไหมเอ่ย อุ๊ย มันหมดเวลา 15 นาทีแล้ว
ชาญ : ไม่เป็นไรครับ โอเคอยู่ครับ
แน็ต : ขอบคุณนะคะที่โทรมา ถ้าลองทำแล้วมีปัญหาอะไร ถ้าลองทำแล้ว ทำไม่ได้ หมาไม่ฟัง ไม่เข้าใจ อะไรอย่างนี้ ก็ลองติดต่อกลับมาได้เนาะ แต่เอาไปลองก่อน
ชาญ : เดี๋ยวผมจะลองรีวิวให้ดู
แน็ต : โอเคเลย ขอบคุณมากค่ะ
ชาญ : ครับผม
แน็ต : โอเคค่า สวัสดีค่ะ