ช่วงคุยกับคนใจหมา Special!! แขกรับเชิญวันนี้ คุณ Micheal Lee (คุณไมเคิล ลี) เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับ IPO (IGP)
ตอนที่ 1 กีฬา IPO (IGP) คืออะไร มีที่มายังไง มีไว้เพื่ออะไร
แน็ต : สวัสดีค่ะ วันนี้อยู่กับแน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้เรามีช่วงคุย special กับคุณไม่เคิล ลี ก่อนอื่นที่จะเข้าไปเนี่ยต้องบอกก่อนว่าคุณไมเคิล ลี เป็นอันดับ 4 ของโลกที่ไปแข่งมา ก่อนเราจะเข้าถึงตรงนั้นเนี่ย คนส่วนใหญ่ยังสงสัยว่า IPO คืออะไร เพราะฉะนั้นวันนี้ part แรกที่เราจะคุยกันเป็นเกี่ยวกับว่า IPO คืออะไร
ไมเคิล : IPO ย่อมาจาก International Prufungsordnung ก็คือระบบการสอบ ระบบการทดสอบแบบสากล ถ้าแปลเป็นภาษาไทย จริงๆก่อนที่จะเป็นชื่อ IPO เนี่ย มันมาจากชื่อ ชุทซุนด์ (Schutzhund) ชุทซุนด์เนี่ยเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า สุนัขอารักขา ที่เขาสืบทอดกันมา มีประวัติเป็น 100 กว่าปี คือตอนนั้นเนี่ยทำไมต้องมีชุทซุนด์ ทำไมต้องมี IPO คือทางประธานสมาคมเยอรมันเชพเพิร์ด ประธาน SV เนี่ย ตอนนั้นเขาก็คิดว่าสมัยนั้นเทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เขาก็กลัวว่าเยอรมันเชพเพิร์ดของเขาเนี่ย อีกหน่อยจะไม่ได้ใช้งาน ทีนี้เขาก็เลยคิดค้นกีฬานี้ขึ้นมา ตอนแรกๆมันยังไม่เป็นกีฬา เขาก็เลยคิดค้นกฎกติกาตรงนี้ขึ้นมา เพื่อทดสอบความสามารถของสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดเพื่อจะมาสืบพันธุ์ ตอนแรกๆชุทซุนด์มีไว้เพื่อเอามาเป็นเกณฑ์ให้สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดสืบพันธุ์ เฉพาะสุนัขที่สอบผ่านชุดหนึ่งเนี่ยถึงจะมีโอกาสได้สืบพันธุ์ต่อไป
แน็ต : เพื่อให้ได้รุ่นออกมาที่มีมาตรฐาน
ไมเคิล : ใช่ ที่มีมาตรฐานในการใช้งาน กฎกติการ IPO ตรงนี้จะเหมือนกันทั่วโลกทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหน ถ้าพูดถึง International Prufungsordnung ก็จะเป็นกฎกติกาเดียวกันทั้งโลก แต่หลังจาก 2004 คือตอนนี้ปี 2019 ปีนี้เขาจะเปลี่ยน IGP ถามว่า IPO กับ IGP มันแตกต่างกันไหม ก็ไม่แตกต่างกัน ก็มาจากคำที่ว่า สมัยก่อนคือ International Prufungsordnung พอแปลออกมาแล้วคนที่ฟังเขาก็จะไม่เข้าใจว่า โอเค International แปลว่าสากล Prufungsordnung คือกฎกติกาที่จะมาทดสอบ ทดสอบอะไรล่ะ ก็ไม่มีใครรู้ ตอนนี้เขาก็เลยมาแก้เป็น IGP คือ International Gebrauchshunde Prufungsordnung ก็คือเป็นกฎกติการที่ใช้ทดสอบสุนัขใช้งาน Gebrauchshunde คือสุนัขใช้งาน
แน็ต : อ๋อ อันนี้ก็คือถ้าแน็ตเข้าใจไม่ผิดเนี่ย มันก็คือการผสมผสาน 3 อย่าง ก็คือ Basic Obedience, Tracking แล้วก็ Protection
ไมเคิล : ใช่ คือใน IPO เนี่ย สุนัขตัวหนึ่งจะต้องใช้จมูก คือเขาจะต้องดมกลิ่นของคนที่วางรอย แล้วก็จะสามารถหาสิ่งของที่คนๆนั้นทำหล่นไว้ในสนามสอบ มันก็ต้องเป็นทดสอบจมุกของสุนัข คือจมูกต้องดี แล้วคือ obedience การเชื่อฟังคำสั่ง ถามว่ามันยากไหม มันก็ไม่ยาก ถ้าเกิดว่าเราแค่ต้องการให้เขานั่ง หมอบแล้วคอย แค่นั้นมันก็ไม่ยาก ถ้าเกิดว่าเราจะไปถึงขั้นระดับแข่งขันกับคนทั่วโลก ซึ่งการฝึก obedience หรือการฝึกเชื่อฟังคำสั่งตรงนี้เนี่ย มันเป็นอะไรที่ฝืนธรรมชาติ เพราะว่าสุนัขตัวไหนเขาจะอยากเดินชิดข้างคุณแล้วมองเงยหน้าขึ้นมา ไม่มีหรอก แต่ละตัวเขาก็อยากจะนอนเล่นของเขา อยู่ในบ้านเขาก็นอนเล่น อยากจะมีอะไรกินก็กิน เขาก็อยากจะใช้ชีวิตของเขาที่แบบสบายๆ แต่โดยที่ว่ามนุษย์เนี่ยเราต้องการสุนัขที่เชื่อฟังคำสั่งได้ เราเลยต้องมีคิดค้นวิธีฝึกที่ถึงแม้จะฝืนธรรมชาติ แต่เราก็ต้องทำให้ดูแล้วไม่ฝืนมากที่สุด แต่การแสดงตัวของสุนัขที่แสดงออกมาเนี่ย ดูแล้วธรรมชาติ คือเขาจะดีใจ เขาจะ happy แล้วเขาจะมีความสุขต่อการฝึก แล้วเราจะต้องทำอย่างไร ด้วยในใจของเขาเองเนี่ยคือเขาจะต้องมีความสุข คือไม่ใช่โดนบังคับมา เพราะถ้าเขาโดนบังคับมา เราดูเราก็รู้แล้ว หรือคนอื่นดูก็รู้แล้วว่าเขาไม่ได้มีความสุขจริง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังจาก obedience เสร็จเนี่ย สุนัขตัวนั้นก็ต้องแสดงพฤติกรรมที่กล้าหาญกับคน protection นี่หมายถึงว่าเขาจะต้องกล้าที่จะไปกัดผู้ร้ายได้ โดยอยู่ภายใต้คำสั่งและการควบคุมของผู้จูง สุนัขที่เราฝึกตอนต่อสู้ป้องกันตัว เราก็ต้อง balance ระหว่างการเชื่อฟังคำสั่ง คือเขาจะมาดุอย่างเดียวไม่ได้ เขาจะต้องฟัง ถ้าเราสั่งเขานิ่ง เขาต้องนิ่ง ถ้าเราสั่งเขาเห่า เขาต้องเห่าแบบดุดัน แล้วถ้าเราสั่งให้เขากัดเนี่ย ตอน helper วิ่งหนีเขาเนี่ย ก็ต้องเป็นพลังขับไล่ล่า เขาก็ต้องเปลี่ยนระหว่าง aggression และก็ play drive แล้วก็ obedience อยู่ข้างใน ในระยะเวลาสั้นๆก็คือประมาณ 10 นาที
แน็ต : ค่ะ
ไมเคิล : สุนัขตัวหนึ่งที่มาใช้งานเนี่ย คุณจะต้องมีศักยภาพอย่างไรถึงเรียกว่าโอเค ตัวนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน สำหรับเรา เราคิดว่าสุนัขใช้งานตัวหนึ่งที่ดี คือเขาจะต้องมี food drive ที่ดี คือเขาจะต้องกินเร็ว จะต้องกินเก่งแล้วต้องกินเกือบทุกอย่าง แล้วต้องไม่เลือกด้วย สอง เขาต้องมี play drive มีพลังขับที่สูง คือเขาจะเห็นอะไรขยับไม่ได้ ไม่ว่าลูกบอลหรือแท่งกัด หรือบางครั้งแมลงวันที่บินผ่าน เขาก็จะกัด เขาจะชอบทุกอย่างที่ขยับ
แน็ต : คือทุกอย่างเป็นสิ่งเร้าได้หมด
ไมเคิล : ใช่ อะไรที่ขยับเขาจะต้องชอบ เขาจะต้องมี play drive ที่สูง และเขาจะต้องมี aggression เขาจะต้องมี drive ต่างๆที่สูงมาก เพราะมันสำคัญมาก สำหรับสุนัขตัวหนึ่งที่เราต้องการเอามาฝึก สอง หลังจากเขามี drive เสร็จเนี่ย เขาจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เขาจะต้องมี self confidence ความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงมาก เพราะว่าสุนัขตัวหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงเนี่ย เขาถึงจะกล้าเข้าไปในห้องมืดหรือบ้านที่พื้นลื่น หรือในโรงงานที่เต็มไปด้วยเสียง เสียงอะไรก็ไม่รู้ตูมๆตามๆ ที่ถ้าเกิดว่าสุนัขตัวนั้นๆไม่มีความมั่นใจในตัวเองเขาก็จะไม่กล้า เราส่งเขาไปค้นหาคนในบ้าน เขาไม่กล้า ถ้าเราจะส่งสุนัขของเราขึ้นไปในตึกพัง หรือซากตึกอะไรพวกนี้ ที่บางที่มันก็ไม่ stable แบบสั่นไปมา สุนัขที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองสูงเขาก็จะไม่กล้าไปตรงนั้น เขาจะไม่กล้าเข้าไปมุดรูลึกๆเพื่อไปดมหาคนที่อยู่ใต้ฝาตึก เขาจะไม่กล้า คือเราต้องการสุนัขที่มีความมั่นใจตัวเองสูง และอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องการในสุนัขใช้งานที่ดีตัวนั้นเนี่ย เขาจะต้องเป็นสุนัขที่แข็งแกร่ง แข็งแกร่งหมายถึงว่า เขาจะต้องสู้และเขาจะต้องทนกับความกดดัน ความกดดันหมายถึงว่าถ้าเขากัดผู้ร้ายเข้าไปแล้วเนี่ย ผู้ร้ายจะตีหรือจะแทงด้วยมีด เขาจะต้องสู้ เขาจะต้องไม่แพ้ต่อความเจ็บแค่นี้แล้ววิ่งหนี ไม่ ถ้าเขาโดนตี โดนกดดันเนี่ย เขาจะต้องกัดฟันแล้วเอาให้แน่นกว่าเดิม
แน็ต : สรุปแล้ว หมาที่จะมาแข่ง IPO ได้เนี่ยต้องแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ คำถามต่อไปคือ ทำไมเราควรที่จะสอนหมาให้เรียนรู้เกี่ยวกับ IPO คะ
ไมเคิล : จริงๆถ้าถามว่าทำไมต้องสอนสุนัขเกี่ยวกับ IPO หรือ IGP เนี่ย ก่อนอื่นเจ้าของสุนัขต้องเข้าใจก่อนว่า IPO หรือ IGP เนี่ย ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสุนัขทุกพันธุ์ เขาออกแบบมาเพื่อสุนัขบางพันธุ์ แล้วก็ยิ่งต้นกำเนิดของเขาคือออกแบบมาเพื่อฝึกสุนัขเยอรมันเชพเพิร์ดโดยเฉพาะ เราจะมาบอกว่า สมมติคุณมีลาบราดอร์ หรือแจ็ครัสเซิล หรือคุณมี
แน็ต : ชิวาว่า
ไมเคิล : ชิวาว่าอะไรพวกนี้ คุณจะมาบอกว่าจะมาฝึก IPO มันทำไม่ เพราะว่ากฎกติการของเขาบางสิ่งบางอย่าง บังคับว่าสุนัขพันธุ์เล็กหรือสุนัขบางพันธุ์เนี่ยทำไม่ได้ อย่างเช่น แผงกระโดด 1 เมตร อะไรอย่างนี้ไม่ได้ กฎกติกาของเขาคือคุณจะต้องกระโดดข้ามไป แผง 1 เมตร โดยที่ไม่แตะโดนแผง และต้องคาบดัมเบลน้ำหนัก 650 กรัม แล้วก็กระโดดกลับมานั่งข้างหน้า ซึ่งแจ็ครัสเซิลหรือพันธุ์เล็กเนี่ย เขาจะทำไม่ได้ ถ้าสุนัขพันธุ์ที่ใช้งานได้รับการฝึก IGP ไปแล้ว ชีวิตของเขาก็จะมีความสุข เพราะว่าเขาได้ใช้ คือถ้าเขาเป็นสุนัขที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว แล้วต้องมานอนอยู่ที่บ้านไม่ได้ทำอะไร ทีนี้เขาก็จะแทะรองเท้า เขาก็จะขุดสวนของเรา เขาก็จะกัดยางรถ กัดป้ายทะเบียนของเรา เขาก็จะทำลายไปทุกอย่าง เพราะว่าเขาไม่ได้มีอะไรทำ ซึ่งถ้าคุณตัดสินใจซื้อสุนัขใช้งาน คุณก็ต้องมีกิจกรรมที่เหมาะสมให้เขาทำ
แน็ต : เป็นการเติมเต็มสิ่งที่สายพันธุ์เขาถูกสร้างขึ้นมา
ไมเคิล : ใช่ แล้วก็หลังจากการฝึก IGP ฝึก IPO ไปแล้วเนี่ย ความสัมพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ระหว่างเรากับสุนัขของเราเนี่ย จะดีขึ้น แล้วจะสื่อสารกันได้ดีขึ้น เราคุยเราพูด เขาฟังก็รู้เรื่อง เราสั่งให้คอยก็คอยได้ เราสั่งห้ามไม่ เขาต้องไม่ ถ้าเจอคนแปลกหน้าหรือใครเข้ามาในบ้านแล้วเขาเกิดแสดงปฏิกิริยาที่เราไม่ต้องการ อย่างเช่นเขาอยากจะกัดคนแปลกหน้าหรือเขาจะแสดงอาการก้าวร้าวกับสุนัขตัวอื่นเนี่ย เราสามารถที่จะหยุดเขาได้เพราะว่าเราฝึกมา เราก็จะบอกว่าไม่ได้นะ ตรงนี้คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินว่าคุณทำได้หรือไม่ได้ ผู้ที่จะตัดสอนสุนัขตัวนี้คือเจ้าของ ไม่ได้อยู่ที่สุนัข เราบอกว่าไปคุณถึงจะไปได้ ถ้าเราบอกหยุด
แน็ต : คุณก็ต้องหยุด
ไมเคิล : ถูกต้อง แม้แต่เห่า ถ้าเราบอกหยุด ไม่เห่า เขาก็ต้องหยุดนิ่ง ไม่เห่า แต่ถ้าเราบอกให้เห่า เขาก็ต้องเห่าแบบดุดัน ตามที่เราต้องการ ถ้าเรารู้สึกว่าเราอยู่ในอันตราย เราบอกให้ปกป้องเรา อารักขาเรา เราสั่งให้เขาสู้ เขาก็จะแบบสู้เต็มที่ เพราะเขาโดนฝึกมา เพราะในกฎกติการของ IGP ข้างในตรงนั้นเนี่ย เขามีข้อบังคับหลายต่อหลายอย่างที่เราจะสร้างพฤติกรรมตรงนี้ออกมา และเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ผู้ที่จะฝึก IGP ได้ก็ควรจะเป็นเจ้าของที่มีสุนัขใช้งาน อย่างเช่น ร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน บ็อกเซอร์ แล้วก็เยอรมันเชพเพิร์ต ดัตช์เชพเพิร์ต มาลีนอยส์ คือเบลเยี่ยมเชพเพิร์ต อะไรพวกนี้
แน็ต : เราต้องมีเวลาและมีเงินด้วย
ไมเคิล : เวลาต้องมี เงินก็ต้องมีบ้างนิดหน่อย เพราะถ้าไม่มีก็จะไม่สามารถซื้อสุนัขตรงนั้นได้
แน็ต : ใช่แล้ว ถูกต้องๆ โอเคค่ะ วันนี้ก็จบไปแล้ว part 1 สำหรับกีฬา IPO หรือ IGP เดี๋ยวพักเบรกกันนิดหนึ่งแล้วเราจะมาต่อ part 2 กันนะคะ ขอบคุณค่ะ
ตอนที่ 2 คุณไมเคิล ลี คือใคร?
แน็ต : สวัสดีค่ะ วันนี้แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้อยู่กับ part 2 กับคุณไมเคิล ลี part 1 ติดตามได้ใน link ข้างล่างนี้ part 2 นี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับว่า คุณไมเคิล ลี คือใคร ก็นอกเสียจากว่าเป็นผู้ชายหนึ่งคนแล้ว มันมีมากกว่านั้นอีก คุณไมเคิล ลี เป็นคนมาเลเซีย เป็นมาอย่างไรเล่ามาเลยค่ะ
ชไมเคิล : ก็เป็นคนมาเลเซียครับ แต่พอดีบ้านผมอยู่ติดกับชายแดนมาเลเซียกับไทย ผมก็เลยพูดไทยได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบก็พูดไทยได้นิดหน่อย แต่ก็ยังไม่แข็งแรง
แน็ต : ดีกว่าคนทั่วไป แล้วคุณไมเคิ ลี เริ่มเข้ามาสู่ด้านการเกี่ยวกับหมา เรื่อง IPO IGP นี่ตั้งแต่เมื่อไรคะ
ชไมเคิล : ก็ตั้งแต่ปี 1997 เราเข้ามาวงการนี้อย่างไร เราก็เหมือนกับคนทั่วไป ผมเริ่มจากสุนัขสวยงามมาก่อน สุนัขตัวแรกที่ผมซื้อก็เป็นสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ แล้วก็ไปประกวดสุนัขสวยงาม เหมือนกับคนทั่วไป แต่หลังจากนั้นมาเนี่ย ผมได้รู้ว่าร็อตไวเลอร์ของผมเนี่ย เขาชอบกัดของเล่น เขาจะกัดคนแปลกหน้า จะกัดคนไปทั่ว กับสุนัขตัวอื่นเขาก็จะกัด ทีนี้เราก็ไม่รู้จะฝึกเขาอย่างไร เราก็เลยเริ่มมาสนใจเรื่องการฝึก เพราะเราต้องการให้สุนัขที่เรารักเนี่ย มีกิจกรรมที่ดีกว่า แล้วก็เราอยากจะรู้วิธีฝึกให้เขาดี เขาจะได้ใช้ชีวิตที่ดีกว่าและเข้ากับเราได้ ซึ่งจะไม่มีปัญหากับคนในบ้าน ก็รู้กันอยู่แล้วว่าร็อตไวเลอร์ตอนนั้นดังเพราะเขาดุ เราก็เลยอยากจะศึกษาตรงนี้ แล้วบังเอิญ คุณวิภาดา เป็นคนนำผมเข้ามาในวงการฝึกสุนัข ปีนั้นมีอยู่ปีหนึ่ง เขาชวนผมไปที่บ้านเขา แล้วพอดีเจอเพื่อนเขาที่เป็นคนเยอรมัน พอดีเจ๊เขา ต้องเรียกเจ๊เพราะเขากับเราอายุห่างกันไม่เยอะ คนอื่นต้องเรียกป้า แต่ผมต้องเรียกเจ๊ คือเจ๊เขาก็แนะนำเพื่อนเขาคนนั้นที่เป็นชาวเยอรมันให้เรารู้จัก หลังจากนั้นเนี่ยผมก็ตามเขาไปเยอรมัน ตั้งแต่ปี 1997 ผมไปถึงเยอรมัน ผมก็ได้เห็นสิ่งที่พวกเขาฝึก กับสิ่งที่พวกเขาทำเนี่ย มันแตกต่างจากเมืองไทยโดยสิ้นเชิงเลย เราก็เลยหลง แบบชอบกีฬานี้ ชอบการฝึกสุนัขขึ้นมา แล้วหลังจากปี 1997 เราก็ไปเยอรมันทุกปีเลย ก็จะไปอยู่ตรงนั้นประมาณเดือนหนึ่ง ทุกปีเลย เฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง บางครั้งก็เกินกว่านั้น แต่เฉลี่ยแล้วประมาณเดือนหนึ่ง
แน็ต : เพื่อที่จะไปเรียนรู้เทคนิก
ชไมเคิล : เพื่อที่จะไปเรียนรู้เทคนิกแล้วก็วิชาเกี่ยวกับการฝึกสุนัขตรงนี้ พอฝึกเริ่มเก่งขึ้นเราก็อยากจะลงแข่งขันบ้าง เราก็ได้เข้าแข่งขันชิงแชมป์โลกของ IPO ในนามประเทศไทยนะ ครั้งแรกคือในนามประเทศไทย
แน็ต : เป็นคนมาเลเซียที่มาลงแข่งในนามประเทศไทย
ชไมเคิล : ในนามประเทศไทยตอนปี 2000 เพราะว่าบ้านผมอยู่ชายแดน และผมก็มีธุรกิจในเมืองไทย แล้วก็มีบ้านอยู่ในเมืองไทย ชีวิตประจำวันของผมเนี่ยส่วนใหญ่ผมก็จะใช้ชีวิตในเมืองไทย ผมก็เลยเป็นตัวแทนของเมืองไทย ครั้งแรกไปแข่งชิงแชมป์โลกตอนปี 2000 ที่เบลเยี่ยม
แน็ต : ได้อันดับที่เท่าไรคะ
ชไมเคิล : ปีแรกรู้สึกจะได้อันดับที่ 50 กว่านะ
แน็ต : 50 กว่า ก็ยังติด 1 ใน 100 นะ
ชไมเคิล : ใช่
แน็ต : เพราะว่าแน็ตเข้าใจว่าระดับโลกนี่คือ เวลาไปแข่งนี่มันต้องมีเยอะมากแน่
ชไมเคิล : มี มีเยอะ มีประมาณร้อยกว่าตัว 140 กว่าตัว
แน็ต : โอ้โห แล้วไปแข่งครั้งแรกก็ยังติดอยู่ในอันดับ
ชไมเคิล : ใช่ อันดับที่ 50 กว่า
แน็ต : ตัวแรกที่เอาไป
ชไมเคิล : เป็นพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด
แน็ต : ไม่ใช่ร็อตไวเลอร์ตัวนั้น
ชไมเคิล : ไม่ๆ เป็นเยอรมันเชพเพิร์ดสีดำ
แน็ต : ซึ่งเป็นหมาที่คุณไมเคิลใช้ฝึกอยู่ที่เยอรมันอยู่แล้ว
ชไมเคิล : ใช่
แน็ต : แล้วที่ไปได้อันดับ 4 ของโลกมานี่คือแข่งของปีไหนนะคะ
ชไมเคิล : ก็เป็นปี 2014 ที่ประเทศสวีเดน แต่ละคนที่มาเข้าร่วมแข่งขันเนี่ย เป็นคนที่คัดมาเป็นหัวกะทิจากประเทศเขาทั้งนั้นเลย แล้วทีนี้คนอื่นทั่วไปธรรมดาอย่างเช่นเรา คนเอเชีย จะไปสู้กับพวกเขาเนี่ย มันเป็นอะไรที่ยาก ตอนนั้นเลย ตอนที่ผมๆเข้าแข่งขันแรกๆเนี่ย ผมก็คิดว่าความฝันของเราเนี่ย ในชีวิตของเรา ถ้ามีครั้งหนึ่งที่เราสามารถปั้นลูกสุนัข ลูกสุนัขนี่หมายถึงว่า เราจะฝึกสุนัขตั้งแต่อายุ 2 เดือน ขึ้นมา สำหรับเขาก็เปรียบเสมือนเป็นกระดาษขาวแผ่นหนึ่ง ซึ่งทุกพฤติกรรมเนี่ยเราต้องรับผิดชอบ ทุกพฤติกรรมที่เราต้องการสร้างในสนามแข่งนี่เราต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร เราต้องเป็นคนสร้างอย่างเดียวเลย เพราะเขาเป็นกระดาษขาวมา ความฝันของผมเลยก็คือ ถ้าวันไหนเราได้สามารถเอาลูกสุนัขที่เราปั้นขึ้นมาด้วยตัวเองเนี่ย ไปเข้ามาชิงแชมป์โลก แล้วติด 1 ใน 20 มันก็เป็นความฝันของเราแล้ว แล้วก็คิดไม่ถึงว่าปี 2014 เนี่ย เราเอาสุนัขที่เราปั้นจากลูกหมาขึ้นมาเนี่ย เข้าติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก แล้วก็ถัดมาอีกปีหนึ่ง ปี 2016 เราก็ได้อันดับ 7 แล้วก็ปีที่แล้วเนี่ย การแข่งขัน FCI เป็นปีที่มีสุนัขเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 170 ตัว ผมก็ได้อันดับที่ 17 ก็ผมคิดว่าปีนี้ผมก็จะไปแข่งอีก
แน็ต : หมาตัวหนึ่งนี่สามารถอายุได้กี่ปีในการเอามาแข่ง
ชไมเคิล : สุนัขของผม ตอนที่ผมฝึกตั้งแต่เขาเล็กๆเนี่ย ผมถนุถนอม ผมคิดทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เขาบาดเจ็บ โดยสุนัขของผมตัวที่แข่งเนี่ย ปีนี้เขาอายุ 9 ขวบแล้ว
แน็ต : 9 ขวบยังได้อยู่
ชไมเคิล : 9 ขวบแล้วเขายังแข็งแรง เขายังฟิตเหมือนเดิม เขายังวิ่งเร็ว เขายังกระโดดสูง power ของเขา กำลังของเขาเหมือนอายุ 3 ปี คนที่จะซื้อหรือเลือกสุนัขเนี่ยต้องเลือกให้ดี เพราะตอนนั้นผมซื้อสุนัขตัวนี้เนี่ย ผมก็ศึกษามาอย่างดี ผมต้องดูก่อนว่าพ่อแม่ของเขาเป็นใคร เป็นสไตล์ที่เราชอบไหม แล้วเขาแข็งแรงไหม พ่อแม่ของเขาเนี่ย อายุการฝึก อายุการแข่งขันของเขานี่นานหรือเปล่า ถ้านานหมายถึงว่าตัวนี้แข็งแรง เพราะว่าสุนัขแข่งขันของเรา เขาต้องวิ่ง เขาต้องกระโดด เขาต้อง charge ก็คือบางทีเราอาจจะปล่อยเขาวิ่งไปกัดคนที่ระยะ 100 เมตร เขามีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บเยอะ เพราะเขาจะต้องพุ่งและวิ่งด้วยความเร็ว
แน็ต : กระแทกแรง
ชไมเคิล : พุ่งปะทะและกระแทกแรง พอกระแทกแรงปุ๊บเนี่ย กระดูกที่คอของเขาอาจจะได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าสุนัขเราแข็งแรงเนี่ย มีกล้ามเนื้อที่ดี มีกระดูที่แข็งแรง เขาก็จะมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น
แน็ต : ขอให้คุณไมเคิลได้ 1 ใน 20 ไหม หรือว่าจะเอาสูงกว่านั้น
ชไมเคิล : ไม่ๆ คิดว่า 1 ใน 20 ก็สุดยอดแล้ว
แน็ต : โอเค
ชไมเคิล : แต่ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้ ผมก็ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะผมก็คิดว่าผมได้พาเขาไปเที่ยวเมืองนอก แล้วเราก็ทำแบบเต็มที่ คือก่อนแข่งขันทุกครั้งผมไม่คิดหรอกว่าผมจะได้เท่าไร แต่ที่ลงแข่งขันปุ๊บเนี่ย ผมก็คิดว่าผมจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แล้วก็สุนัขของผมก็จะมีความสุขตอนที่เขาอยู่ยุโรป แล้วเราก็จะมีเวลาที่อยู่ด้วยกันกับเขาเนี่ย สองต่อสอง แล้วเราขับรถไปเที่ยวอะไรอย่างนี้ จริงๆแล้วตรงนั้นมันสนุกกว่า ตำแหน่งเราได้มา เราเคยเป็น 1 ใน 5 มาแล้ว คิดว่าสำหรับเอเชียก็สุดยอดแล้ว ปั้นจากลูกหมาเนี่ย แล้วเข้างานชิงแชมป์โลก เราไม่ได้ซื้อสุนัขสำเร็จมา ปั้นจากลูกสุนัขแล้วเข้างานชิงแชมป์โลก ตรง FCI เนี่ย อันดับที่สูงที่สุดตอนนี้คือเรา ตั้งแต่มีประวัติศาสตร์มา คือยังไม่เคยมีใครทำได้ จากลูกหมาแล้วก็เข้า 1 ใน 5
แน็ต : โอเคเลย ขอบคุณมากเลยนะคะคุณไมเคิลที่วันนี้มาให้ความรู้ แล้วยังมี part 3 ต่อกันอีก ซึ่งเดี๋ยวเราจะพักเบรกก่อน part 3 มาว่ากันอีกที ขอบคุณค่ะ
ตอนที่ 3 การเล่น IPO (IGP) จะมีส่วนกับพฤติกรรมสุนัขหรือไม่
แน็ต : สวัสดีค่ะ แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้เราอยู่กับ part 3 กับคุณไมเคิล ลี เรามาต่อกันที่ว่ากีฬา IPO หรือ IGP นั้นมันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุนัขอย่างไร โอเค คนส่วนใหญ่เนี่ยเวลาที่เขาเห้นวิดีโอของหมาที่แข่งขัน IPO หรือ IGP เขาจะชอบกลับมามองหมาตัวเองที่บ้านว่า เฮ้ย หมาฉันก็ทำได้ เพราะหมาฉันก็กัดแหลกเหมือนกัน แถมเห่าไม่หยุดด้วย แถมดุมาก อะไรประมาณนี้ คุณไมเคิลในฐานะที่เป็นผู้ฝึกหมาและเจ้าของหมาที่สามารถควบคุมตรงนี้ได้เนี่ย กับการฝึกเรื่อง IPO หรือ IGP มาเนี่ย คุณไมเคิลมองว่ามันแตกต่างกันอย่างไร
ไมเคิล : จริงๆแล้วมันแตกต่างกันเยอะนะ เพราะว่าในกฎกติกาของ IGP เนี่ย หลังจากการฝึกของ IGP ตรงนี้เนี่ย เพราะว่ากฎกติกาของเขาที่สร้างมาเนี่ยมันมีเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันเยอะ ก็คือว่าเราต้องการสุนัขที่ดุ เราต้องการสุนัขที่กัดด้วยพลัง แล้วเวลาที่เขากัดเข้าไปแล้วเนี่ย เขาจะต้องไม่ส่งเสียงขู่ แล้วเขาจะต้องปล่อยทันทีหลังจากที่เราสั่ง ในการต่อสู้ป้องกันตัวของเราข้างในตรงนี้เนี่ย มันมีระเบียบวินัยเยอะ มันมี obedience อยู่ข้างในเยอะ ซึ่งมันแตกต่างจากสุนัขตามบ้านของเราทั่วไป จริงอยู่ที่สุนัขตามบ้านของเราก็เห่าแหลกอยู่เหมือนกัน แล้วก็กัด แต่ว่าพอจริงๆแล้วเนี่ย ถ้าเราต้องการให้เขาไปเห่าคน หรือไปหาคน หรือไปเห่าคนหลังรถเนี่ย บางทีเราสั่งเขาเขาไม่ไปก็ได้ แล้วบางทีเราจะให้เขากัด หลายต่อหลายคนเข้าใจไปว่า สุนัข IGP IPO เนี่ยกัดเฉพาะกระสอบแขน ถ้าไม่มีกระสอบแขนแล้วเขาก็จะไม่กัด จริงๆแล้วมันไม่ใช่นะ จริงๆแล้วสุนัขของเราเนี่ย เราบังคับให้เขากัดกระสอบแขน เราบังคับเขาเลยนะ เพราะในกฎกติกาเนี่ย เขาจะกัดส่วนอื่นไม่ได้ แต่ถามว่าสุนัขของเราเขาชอบไหมที่จะกัดส่วนอื่น ชอบ เขากัดไม่เลือกเป็นอะไรที่เขาชอบที่สุด กัดท้องเอย กัดขา เป็นอะไรที่เขาชอยมาก แต่โดยกฎกติกาของเราเนี่ย สุนัขที่ฝึก IGP ไม่สามารถที่จะกัดส่วนอื่นของ helper ได้ เราเลยต้องบังคับให้สุนัขของเรากัดกระสอบแขน ไม่ใช่ว่าคุณไม่มีกระสอบแขนแล้วเขาจะไม่กัด คุณไม่มีกระสอบแขนนี่เขายิ่งชอบเลย เราก็จะอ่านหมาเราออก เราก็จะสื่อสารกับหมาเรารู้เรื่อง สุนัขของเราจะรู้ว่าเราต้องการอะไร เวลาเขาพูดมาเนี่ย เราก็จะรู้ว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากได้อะไร แล้วเราก็จะบอกเขาว่า ได้ หรือไม่ได้
แน็ต : เราเป็นคนตัดสิน
ไมเคิล : ใช่ เราเป็นคนตัดสิน เขาตัดสินเองไม่ได้ ถ้าให้เขาตัดสินเองบ้านนี้พังไปแล้ว
แน็ต : เละเทะ
ไมเคิล : ใช่เละเทะ เขาสินเองไม่ได้ เขาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เพราะว่าเราเป็นหัวหน้าจ่าฝูง
แน็ต : แล้วอย่างนี้ถ้าสมมติอย่างบ้านคุณไมเคิลอย่างนี้ หมาตัวสีดำของคุณไมเคิลน่ะ ถ้าเกิดคุณไมเคิลไม่อยู่บ้าน แล้วมีขโมยเข้าบ้านมา เขายังทำหน้าที่ปกป้องบ้านไหม เพราะมันไม่มีคนสั่ง
ไมเคิล : ไม่มีคนสั่งคือเขาจะหวงพื้นที่ของเขา แต่ถ้าสุนัขของผมอยู่ในบริเวณบ้าน ผมคิดว่าในรัศมี 30 เมตรเนี่ย ไม่มีใครเข้ามาใกล้ได้ เพราะว่าถึงแม้ว่าเราไม่ได้ยินเสียงคนแปลกหน้าเดินมาแต่สุนัขของเราเขารู้ก่อนว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามา เขาได้กลิ่นเขาได้ยินจากหูเขาว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามา หรือว่ามีสัตว์อื่นเข้ามาเขาก็จะรู้เลยว่ามีอะไรที่แปลกปลอมเข้ามา เขาก็จะเห่าก่อนเพื่อเตือน เราก็จะบอกว่าหยุด แล้วก็ไปดูก่อนว่าเป็นใคร มาจากไหน เข้ามาได้หรือเปล่า ถ้าตอนเราไม่อยู่ ทีนี้เขาตัดสินเองเลย ถ้าใครกระโดดเข้ามาโดยพลการเนี่ย เสร็จแน่นอน
แน็ต : อ๋อ อาฮะ
ไมเคิล : เขาก็จะกัด แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเราก็จะคุมตรงนี้ไว้
แน็ต : มันเป็นความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่งที่คนแบบ ไม่เห็นเก่งเลย ต้องให้เจ้าของบอกให้ไปกัดให้ไปเห่า สู้หมาผมก็ไม่ได้ วิ่งไปเห่า วิ่งไปกัดเอง แน็ตเข้าใจแหละว่ามันเป็นข้อแตกต่างระหว่างหมาที่ทำตามคำสั่ง
ไมเคิล : ใช่ เพราะเราคุมเขาไง ถ้าเราอยู่เราจะคุมเขา แต่ถ้าเกิดว่ากลางคืนถ้าเราปล่อยให้เขา free run เนี่ย ทีนี้ไม่ใช่แค่คนเข้ามา แมวเข้ามาก็ไม่ได้ บางครั้งแมวหรืองูที่เข้ามาก็โดนเหมือนกัน
แน็ต : เรียบหมด
ไมเคิล : ใช่ แมวเข้ามาก็ไม่ได้ งูเข้ามาก็ไม่ได้ งูเขาก็จะเอา เขาจะคุมพื้นที่บริเวณของเขา
แน็ต : โอเค ตอบคำถามได้ดีมากค่ะ อันที่สองก็คือ การที่เราสอน IPO หรือ IGP ให้หมาเนี่ย เรากำลังสอนให้ลูกหมาหนึ่งตัวเป็นหมาที่ดุในอนาคตไหม
ไมเคิล : ถามว่าเราสอนให้เขาดุในอนาคตไหม ใช่ เราเปิด aggression เราสอนให้เขาดุขึ้น แต่การดุตรงนี้ ความ aggression ตรงนี้มันต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งไม่ใช่เป็น aggression ที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นความดุร้ายที่เราควบคุมไม่ได้ ความดุร้ายตรงนี้เราควบคุมได้ แล้วเราก็จะมาดูว่าสุนัขตัวนั้นๆเนี่ย เราต้องการให้เขาดุขนาดไหน ไม่ใช่ว่าดุเกินเหตุจนคนในบ้านก็เป็นปัญหา อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เราจะเปิด aggression เขาตอนอายุ 6-7 เดือน ตอนนั้นเราเปิดปุ๊บแล้วเราก็จะดูว่าสุนัขของเราตัวนั้นเนี่ยเป็นอย่างไร คือบางตัวโดยธรรมชาติเขาจะดุมากอยู่แล้ว เราก็เลยต้อง balance ระหว่าง aggressive กับ Play drive เราจะ balance ให้เขา หาจุดสมดุลให้ได้ว่าเขาจะต้องสมดุลในการ aggression และการ Play drive ที่กัดลงไป เพราะว่าถ้าเราไม่หาจุดสมดุลตรงนี้ เราเปิดเยอะเกินไป หนึ่งก็อาจจะเป็นพิษเป็นภัยกับคนในบ้านเรา หรือก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเพื่อนข้างบ้านของเรา อยู่ภายใต้การควบคุมก็เหมือนกับว่า เราไปเรียนกังฟู หรือว่าเราไปเรียนคาราเต้ คือไม่ใช่คนที่เรียนกังฟูทุกคนจะต้องฆ่าคน ไม่ใช่ คนที่มีวิชาเขาก็จะควบคุมตัวเอง เขาจะมีระเบียบวินัยเยอะกว่า เขาจะไม่ตีไม่ต่อยกับใครง่ายๆ
แน็ต : ไม่เหมือนนักเลงปากซอย
ไมเคิล : ไม่เหมือน คือเขาจะมีระเบียบวินัยในตัวของเขาเอง ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดีกว่า
แน็ต : เราควรให้ทุกอย่างอยู่ภายในการควบคุม หวังว่าผู้ฟังทั้งหลายจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกีฬา IPO หรือ IGP มากขึ้นนะคะ ส่วนถ้าใครสนใจอยากจะไปฝึก IPO หรือว่ามีหมาและอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติม อันนี้ก็ติดต่อคุณไมเคิล ไปเรียนกับคุณไมเคิลได้ไหม
ไมเคิล : ได้ครับ
แน็ต : พอจะมีช่องทางไหนติดต่อได้ไหมเอ่ย
ไมเคิล : ติดต่อเราทาง facebook ก็ได้ครับ หาชื่อ Michael Lee
แน็ต : ก็ถ้าสนใจเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อกับคุณไมเคิล ลีโดยตรงได้เลยนะคะ เพราะว่าสิ่งทุกอย่างที่คุณเรียนรู้ตรงนี้เนี่ย มันไม่ได้เฉพาะทำให้หมาดุอย่างเดียว แต่มันสามารถควบคุมหมาได้ แล้วก็สื่อสารกับหมาได้ดีขึ้น ซึ่งอันนี้ในมุมมองของแน็ต แน็ตมองว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่คุณต้องควบคุมหมาได้และสื่อสารกับเขาได้ดีขึ้น โอเค วันนี้คนใจหมาไปแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณคุณไมเคิล ลี ด้วยค่ะ สวัสดีค่ะ