แน็ต : สวัสดีค่ะ แน็ตจากเพจคนใจหมา วันนี้อยู่กับช่วงคุยกับคนใจหมา เรามีปัญหาน้องหมาเข้ากันไม่ได้ ใช่ไหม ประมาณนั้น
นิว : ใช่ ครับผม
แน็ต : คุณนิว มีเวลาให้ 15 นาที เล่ามาเลยค่ะ ว่าปัญหามันคืออะไร แบบย่อๆ
นิว : ปัญหามันเริ่มจากที่ผมไปเอาหมามาเลี้ยงอีกตัวหนึ่งครับ เป็นหมาพันธุ์ไทยธรรมดานะครับ ปกติผมจะเลี้ยงชิสุห์อยู่ 4 ตัว ทีนี้ไอ้หมาไทยเนี่ยผมก็เลี้ยงมาตั้งแต่มันลอดใต้ท้องไอ้พวกนั้นได้ มันก็วิ่งเล่นกันปกติครับ มาช่วง 2-3 ปีหลัง พอมันโตเต็มที่แล้ว พอเอาไปทำหมันแล้วด้วยนะครับ มันก็ ชิสุห์ที่มีปัญหาอยู่ 3 ตัวคือมีชื่อ ชิโร่ บ็อบบี้ มะยม นะครับ ไอ้มะยมกับบ็อบบี้ คือเหมือนเขาจะเป็นพวกกัน เขารักกันอยู่สองตัวแต่เขาไม่ถูกกับชิโร่ แต่ชิโร่จะอยู่กับหมาไทยได้ครับ หมาวัดที่ผมเอามาเลี้ยง ทีนี้ ปกติมันก็กินเล่นนอนด้วยกันปกติ แต่ถ้ามีเสียงแมว หรือเสียงฟ้าร้อง เสียงปะทัด อะไรอย่างนี้ ชิโร่ก็จะกระโจนใส่ไอ้ 2 ตัวนั้นเลย แล้วไอ้หมาไทยน่ะ มันเหมือนจะพยายามห้ามหรืออะไรผมไม่แน่ใจ แต่ว่าการห้ามของมันคือมันจะงับคอไอ้สองตัวนั้น ไอ้สองตัวเล็กที่ชื่อบ็อบบี้กับมะยมน่ะครับ แล้วทีนี้มันงับแบบเลือดออกเป็นแผลใหญ่โตเลยครับ แล้วในเดือนนี้มันโดนกันมาคนละสองครั้งแล้ว พอแผลหายปุ๊บก็โดนอีกแล้ว จนคลินิกเขาจำมันได้แล้วไอ้สองตัวนี้ แล้วเมื่อล่าสุด เมื่อวาน ที่เพิ่งโดนไปคือ ไอ้หมาวัดที่ผมเอามาเลี้ยง มันก็นอนอยู่เฉยๆ แล้วไอ้ตัวเล็กมันเดินผ่านหลัง ไม่รู้มันตกใจอะไรมันก็ลุกเข้าไปกัดเลย
แน็ต : โอเค เดี๋ยวขอสรุปแป๊บนึง สรุปก็คือ หมาที่บ้านแบ่งพวกกัน 2-2 ถูกไหม
นิว : ครับ
แน็ต : ก่อนที่มันจะกัดกันเนี่ย ทุกครั้งคือจะมีสิ่งเร้า เป็นทำอะไรให้ตกใจบางอย่าง
นิว : ใช่ครับ
แน็ต : พอสิ่งนั้นเกิดปุ๊บ ไอ้หมาวัดกับชิโร่ที่อยู่แก๊งเดียวกันเนี่ย ก็จะพุ่งมากัด 2 ตัวนี้
นิว : ใช่ครับ
แน็ต : แล้วเมื่อวานนั้นก็คือ หนึ่งในสองตัวนี้เดินผ่านหมาวัด หมาวัดก็เลยหันกลับไปงับ ถูกไหม
นิว : ใช่ครับ อยู่ดีๆก็กัดเลย เหมือนช่วงจังหวะที่มันนอนหลับ อยู่ดีๆไม่รู้เหมือนมันฝันร้ายหรือเปล่า มันชอบสะดุ้งตื่นมาแล้วชอบขู่ชอบอะไรอย่างนี้
แน็ต : โอเคๆ ตรงนี้อธิบายได้ทุกอย่างเลย เวลาเขากัด หมาวัดนี่เขากัดตรงไหน กัดตรงคอนี่คือ กัดหลังคอหรือกัดคอหอย
นิว : ตรงหลังคอครับ
แน็ต : แต่คือกัดแล้วฝังไหม กัดแล้วสะบัดไหม
นิว : สะบัดด้วยครับ
แน็ต : กัดแล้วสะบัดเหมือนกัน โอเค ถ้ากัดข้างหน้าตรงคอหอยเนี่ยคือฆ่า กัดข้างหลังส่วนใหญ่มันจะคล้ายๆเหมือนเวลาแม่หมาคาบลูกหมา คือกัดเพื่อให้สงบ แต่วิธีกัดที่ถูกต้องสำหรับหมาด้วยกันคือมันควรจะกัดแล้วไม่สะบัด แต่นี่มันกัดแล้วสะบัดด้วย ฉะนั้นมันก็ออกแนวคล้ายๆว่าจะฆ่าด้วยเหมือนกัน
นิว : ครับ
แน็ต : ทีนี้กลับมาปัญหาเรื่องหมาคุณ 2 ฝั่งกัดกัน ทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดจากสิ่งเร้าถูกไหม
นิว : ครับผม
แน็ต : พอมันเกิดสิ่งเร้าเนี่ยมันเป็นไปได้นะ อย่างสูงเลย เป็นไปได้ว่าไอ้สองตัวฝั่งนี้เขากลัว พอเขากลัว อีกฝั่งก็เลยต้องทำหน้าที่คุมให้มันสงบเหมือนเดิม เพราะหมาอยู่ในฝูงเดียวกัน สิ่งที่ balance ที่สุดคือหมาที่สงบ ถ้าตัวใดตัวหนึ่งในฝูงไม่สงบ ไม่ว่าจะด้วยอาการอะไร ตื่นเต้นหรือกลัว ตัวอื่นในฝูงโดยส่วนใหญ่จะเป็นจ่าฝูง เขาจะเข้ามางับ ไม่ได้กัดเพื่อฆ่านะ แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามางับเพื่อให้สงบ เหมือนแบบ สำหรับคนก็เหมือนเวลาเราเริ่มสติแตกน่ะ เริ่มเครียดเริ่มสติแตก คนก็จะต้องเดินมาตีไหล่เจ็บๆอ่ะ ไม่ใช่มาสะกิดน่ะ ต้องตีแบบเรียกสติมาแบบนี้ หรือตบหน้ามันเพื่อให้มันมีสติกลับมา มันจะคล้ายๆกัน แต่เข้าใจว่าหมาทุกตัวเขาไม่ได้รู้ที่จะใช้วิธีนี้ เพราะถ้าหมาที่มันเกิดมาแบบ balance แบบจ่าฝูงเขาจะรู้ว่างับอย่างไร แต่ถ้าหมาที่ขี้กลัวแล้วก็คุมตัวเองไม่ได้เหมือนกัน แล้วมางับ มันก็กลายเป็นจบที่แบบมันจะฆ่ากันน่ะ
นิว : แต่ผมก็เข้าใจอย่างนั้นนะครับตอนแรก เห็นลักษณะมันก็เหมือนเขาจะห้ามมากกว่า บางทีเขาก็ไม่ได้ร่วมวงนะครับไอ้หมาวัดตัวนี้ พยายามจะขู่แล้วก็ให้แยกกัน
แน็ต : อืมๆ เป็นไปได้
นิว : ผมว่ามันก็น่าจะเป็นแบบนั้นนะครับ แต่เหมือนมันตัวใหญ่กว่าเยอะ มันไม่รู้ว่าแรงแค่ไหนคือห้าม มันงับไปเลย
แน็ต : เป็นไปได้ เพราะเขาเป็นหมาโต หมาตัวใหญ่ที่ไม่เคยเจอหมาตัวอื่นที่ใหญ่กว่าเขา เวลาเขาเล่นกันเวลาเขาห้ามกันอะไรแบบนี้ ไอ้ตัวใหญ่เขาไม่เคยรู้ว่าหมาตัวใหญ่เขาแรงเยอะขนาดไหน สำหรับหมาตัวใหญ่นะ เขารู้ว่าแรงเยอะเต็มที่เลยก็คือชิสุห์ 1 ตัวชนเขามา
นิว : ครับ
แน็ต : เหมือนลูกช้างอย่างนี้ ถ้าลูกช้างไม่เคยมีแม่ช้าง ลูกช้างไม่เคยอยู่ในฝูงช้าง ตั้งแต่ลูกช้างเกิดมาลูกช้างอยู่กับคนอย่างเดียว ช้างพวกนี้พอโตไปจะมีปัญหาการเล่น เขาจะไม่รู้ว่าเขาเหวี่ยงงวงได้แรงขนาดไหน เพราะหนึ่งเขาอยู่กับแม่เขา อยู่กับช้างตัวอื่นอย่างนี้ พอเหวี่ยงงวงแรงเกินไป ไอ้ตัวที่ใหญ่กว่าเขาจะเหวี่ยงตบกลับมา แล้วเขาก็จะรู้แล้วว่าตบแรงเกินไป หรือว่าตัวอื่นเหวี่ยงกลับมาแรงกว่าอีก อะไรประมาณนี้ ก็จะเกิดการเรียนรู้ แต่พอช้างที่อยู่กับคนมาโดยตลอดเนี่ย คนมันตบช้างกลับให้แรงเหมือนช้างไม่ได้นึกออกไหม
นิว : ครับ
แน็ต : มันก็ได้แต่เอาเขี้ยวที่เฉาะเข้าไป แต่ถามว่าช้างเรียนรู้ไหม ช้างก็เรียนรู้ แต่คือเขาก็ยังไม่เรียนรู้อยู่ดีว่าเขาเล่นได้แรงขนาดไหน เพราะฉะนั้นมันเป็นไปได้ที่หมาโต วันๆอยู่แต่กับหมาเล็ก เขาก็จะคิดว่าตัวมันเป็นชิสุห์เหมือนกันน่ะ ทั้งๆที่ตัวมันก็โข่งแล้ว
นิว : ครับ เพราะว่าผมสังเกตเวลาเขากัดเสร็จ แล้วผมพาตัวนั้นไปหาหมอ เขาก็จะมาดมตัวนั้น เหมือนสำนึกผิดตลอด แบบเงียบ เศร้า แล้วก็เดินแยกไปอยู่อีกตัว นอนหมอบตัวเดียว
แน็ต : ไอ้ตัวที่เดินไปแยกหมอบนี่คือตัวไหน หมาวัดหรอ
นิว : ใช่ครับ
แน็ต : อาฮะ คือถามว่ามันรู้สึกผิดไหม ทางวิทยาศาสตร์มันก็ยังพิสูจน์ไม่ได้อยู่ดีว่าหมามันมีความรู้สึกผิดหรือเปล่านะ ความรู้สึกผิดมันเป็นความรู้สึกที่คนเอาไปใส่ให้หมามากกว่า แต่การที่เขากลับมาแล้วเขาปลีกตัวไปข้างนอกตัวเดียว เป็นไปได้ว่าฝูงเขาไม่รับเขากลับมา เหมือนเด็กไม่รู้จะจัดการกับวิธีการเข้าสังคมอย่างไร เพื่อนตีกันแทนที่จะเดินไปบอกครูให้ห้าม กลับเดินเอาถาดเข้าไปฟาดหัวเพื่อน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเพื่อนนะ แบบหยุดๆ พอเพื่อนกลับมา ไอ้เพื่อนที่โดนถาดฟาดก็จะแบบ ไม่ต้องเข้ามาเลย แกเล่นไม่เป็น ไปไกลๆเลย
นิว : ครับ
แน็ต : เป็นไปได้ มันเป็นไปได้ ทุกอย่างมันไม่ absolute เพราะแน็ตไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แค่จากที่ฟังเนี่ย จากประสบการณ์มันจะไปแนวนั้น ไอ้ส่วนเรื่องที่ตัวหนึ่งนอนอยู่แล้วอีกตัวเดินผ่านไปงับเนี่ย มันเป็นเรื่องปกติของหมาขี้กลัวหรือหมาขี้ระแวง
นิว : อ๋อใช่ครับมันเป็นหมาขี้กลัว สมมติว่าเพื่อนผมอย่างนี้ ถึงแม้จะมาหลายครั้งแล้วนะครับ ทุกตัวก็จะเห่าเกรียวกราวเลย แต่ว่าสักพักหนึ่งมันก็จะเงียบ แต่ไอ้ตัวนี้มันจะเดินวน ไม่กล้าเข้าใกล้คนแปลกหน้า แบบมาดมๆแล้วก็ถอยห่าง แล้วก็เห่าอยู่อย่างนั้นน่ะ คือมันขี้กลัวมากครับ พอพาออกไปวิ่งหรือพาใส่สายจูงออกไปเนี่ย มันจะไม่เดินเลย ขนาดเปิดประตูค้างไว้มันก็ไม่วิ่งออกนอกบ้าน มันไม่ไปไหนเลย
แน็ต : โอเค เป็นหมาที่ขี้กลัว เพราะฉะนั้นเราถึงจะเตือนเจ้าของหรือเตือนทุกคนน่ะ ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับหมาประเภทนี้นะ เวลาจะเดินผ่านเขา เราควรจะส่งเสียงให้เขารู้ว่าเรากำลังจะมา เพราะไม่งั้นถ้าอยู่ดีๆหมาตื่นมาเจอขาอยู่ข้างหน้าแล้ว เขาก็จะตกใจแล้วเขาก็จะงับ มันคืออารมณ์เดียวกันกับที่มันงับเพื่อนมันนั่นแหละ ไม่ได้แปลว่าเขาดุ แต่คือเขาตกใจ
นิว : มันไม่ดุครับ เพราะว่าช่างหรือใครที่มาทำบ้าน มันก็ไม่เคยกัดใครเลย กลัวด้วยซ้ำ จะวิ่งขึ้นหนีไปบนบ้านด้วย แต่กับหมาเนี่ย มันน่าจะห้ามมากกว่า
แน็ต : ใช่ๆ แต่ประเด็นคือเราไม่ควรให้หมาเป็นคนห้ามไง คนนี่แหละควรจะเป็นคนห้าม
นิว : มันเป็นอย่างนี้ครับคุณแน็ต ถ้าสมมติมันเริ่มก่อหวอด เริ่มจ้องหน้ากันส่ายหาง ครางในลำคอจะขู่กันแล้ว ถ้าผมไปแตะตัว หรือบอกหยุดๆ แบบนี้ มันยิ่งเหมือนเรายิ่งเร้าไปใหญ่ แล้วก็แบบถ้าสมมติเราอุ้มขึ้นอย่างนี้ เอาละ ถ้าอุ้มตัวใดตัวหนึ่งขึ้น อารมณ์มาเต็มที่ คือจะกระโจนใส่ๆ ถ้าอุ้ม คือแตะตัวไม่ได้เลย
แน็ต : คืออย่าไปอุ้ม ถ้าแตะตัวไม่ได้นะอย่าไปแตะ ให้ทำเสียงดังๆ เอาน้ำสาดโครมไปเลยก็ได้ ไม่ต้องสาดหมาก็ได้ สาดลงไปตรงกลางน่ะ หมาก็จะแบบ โอ๊ะ เกิดอะไรขึ้น
นิว : มันไม่กัดกันครับ คือผมเคยลองแล้ว ลุกขึ้นมา ไม่สนใจเลย เดินหนีเลย มันก็ไม่กัดกัน
แน็ต : เข้าใจไง แต่คือหมามันควรจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นฝูงไง คือหมาอยู่บ้านเดียวกันน่ะ ไม่ควรใช้ชีวิตเป็นสองฝูง เพราะทุกคนควรจะอยู่หนึ่งฝูงใต้ร่มของเจ้าของที่เป็นมนุษย์ หมาของคุณยังไม่กัด ไม่ได้หมายความว่าต่อไปมันจะไม่กัด
นิว : ครับ
แน็ต : มันมีสิทธิ์กัด มันมีสิทธิ์ซัดกันนัวก็มี เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้ามันเริ่มแค่ขู่หรือมันเริ่มตั้งท่าแค่เดินมา อกเชิดๆอะไรงี้ หยุดได้ก็หยุดก่อน อย่าไปอุ้ม เพราะบางทีการที่เราเอามือไปสัมผัสเขาหรือเราอุ้มเขา ในหมานะ ที่เขากำลังโฟกัสกับไอ้ตัวข้างหน้าอยู่ อยู่ดีๆมีอะไรมาแตะข้างๆเขา มันก็เหมือนมีหมาตัวอื่นกำลังมาทำร้ายเขาหรือเปล่า มันก็ยิ่งจุดไฟให้พุ่งเลยงั้น
นิว : ครับ
แน็ต : เพราะฉะนั้นเนี่ย ทำเสียงดังๆก็ได้ หรือใช้น้ำสาดก็ได้ หรือถ้าเราคิดว่าเวลาก่อมาคุกันทีไรแล้วเราเดินออกมันจะเงียบ หรือคิดว่าบางทีหมามันก่อมาคุเพราะเจ้าของไหม คิดว่าเป็นเพราะเจ้าของไหม
นิว : ใช่ครับ เพราะว่าส่วนมากที่เกิด
แน็ต : มันหวงเจ้าของไหม
นิว : มันจะเกิดเวลา ไอ้ตัวเล็กสองตัวที่ชอบโดนกัดน่ะ นอนอยู่กับแฟนผม แล้วสมมติชิโร่เดินมาใกล้ๆแฟนผม มันจะเริ่มละ เริ่มมีอาการละ กระสับกระส่าย
แน็ต : ตัวไหนขู่ก่อน
นิว : ไอ้สองตัวที่ชอบโดนกัด ชอบขู่เขา แต่ชอบโดนกัด
แน็ต : เฮ้ย การที่หมาขู่แบบนี้เพราะว่าเขากลัว เพราะเขากำลังจะบอกไอ้พวกนั้นว่าอย่าเข้ามานะๆ กลัว แล้วส่วนใหญ่ไอ้พวกตัวที่ถูกขู่ก็จะซัดเข้าไป ประมาณว่าแกกลับมาสงบเหมือนเดิม แกอย่าเพิ่งสติแตก เพราะหมาที่บ้านแน็ตน่ะ อยู่กัน 5 ตัวไม่เคยมีปัญหาเลย เกิดกันมาท้องเดียวกัน เลี้ยงมาไม่เคยมีปัญหา อยู่ดีๆมีอยู่วันหนึ่งที่เขาขี้กลัว แล้วไปทำอีท่าไหนไม่รู้ ตอนแน็ตไม่อยู่มันก็กัดกัน แล้วจากนั้นมามันก็กลัว แล้วทุกครั้งเวลาหมาตัวที่กัดมันน่ะเดินผ่าน เขาก็จะขู่ พอเขาขู่ปุ๊บ ไอ้ตัวนั้นแค่เดินผ่านนะ ไม่ได้สนใจอะไรเลยนะ แค่เดินผ่านนะ ก็จะหันไปแล้วซัดเลย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเราต้องหยุดใคร ถ้าแฟนคุณนอนอยู่แล้วไอ้สองตัวมันนอนอยู่ข้างๆอย่างนี้ แล้วเกิดชิโร่หรือไอ้หมาวัดมันเดินมา ไอ้สองตัวที่อยู่ข้างๆมันขู่ ก็ต้องหยุดไอ้สองตัวนี้ ไม่ใช่ไปหยุดไอ้พวกนู้น
นิว : ครับ
แน็ต : มันตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง เพราะฉะนั้นอย่าให้มีแรงส่ง มันจะได้ไม่มีแรงรับกลับมา แล้วเราในฐานะเจ้าของคืออะไร เราต้องสอนหมาแล้วว่า เฮ้ย ฉันเป็นคนบอกแกเองว่าใครเข้ามาหาฉันได้ ไม่ใช่หมา นี่คืออะไร เรานอนอยู่กับหมา หมาตัวอื่นเดินผ่านมา ไอ้สองตัวนี้ขู่ นี่ของฉันนะแกอย่าเข้ามา มันไม่ใช่เรื่องแล้ว ถ้าเกิดเป็นแบบนี้เนี่ย แฟนตัวเองหรือตัวเองเนี่ย ต้องทำเสียง เอานิ้วจิ้มสีข้างก็ได้ ตบมือข้างๆหูก็ได้ อะไรก็ได้ให้มันตกใจน่ะ ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำน่ะมันไม่ดีนะ ให้ผลกระทบกับหมาน่ะ โอเค ขู่ใช่ไหม โดนนี่เลย เอาหนังสือพิมพ์มาม้วนๆตีลงพื้นเลย อะไรก็ได้ แล้วแต่กรณี ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดี แต่ไม่ต้องไปด่ามันนะ กรุณาใช้เป็นกายสัมผัส เพราะการที่เราใช้เสียงคำพูดด่ามันน่ะ หมามันฟังไม่ออก เรื่องนี้เราเคลียร์
นิว : ครับ
แน็ต : ทีนี้เนี่ยพอมันขู่ปุ๊บ พอมันเงียบปุ๊บ แล้วตัวเองหรือแฟนก็เรียกไอ้หมาวัดหรือไอ้ชิโร่เข้ามา เพื่อที่เราจะดึงอำนาจจากชิสุห์สองตัวนั้นแล้ว เพราะเรากำลังจะบอกมันแล้วว่า ไม่ใช่แก ฉันเป็นคนที่บอกให้สองตัวนั้นเข้ามาได้ ถ้ามีปัญหามากนัก แกออกไป
นิว : อ๋อ ครับ
แน็ต : ทีนี้เนี่ยหมามันก็จะเห็นละ ว่าอีป้านี่มันคุมได้นี่หว่า อีป้ามันจัดการได้นี่หว่า ถ้างั้นฉันก็ไม่ต้องเป็นคนจัดการ อะไรประมาณนี้ ทีนี้ถ้าเกิดแฟนตัวเอง แรงเขาข้างในไม่พอ คือถ้าเขาทำแบบไม่แน่จริง ไม่เอาจริง ทำไปกลัวไปอย่างนี้ การที่เขาบอกให้สองตัวนี้เงียบ แล้วเรียกสองตัวนั้นเข้ามา ถ้าเขาไม่มีภาวะผู้นำในการคุมสถานการณ์นี้นะ มันก็ยังกัดกันได้นึกออกไหม เพราะไอ้สองตัวนี้มันก็จะแบบ แกก็ไม่แน่จริง แกก็ห้ามฉันไม่ได้ แล้วแกก็เอามันเข้ามาซะงั้นทั้งที่ฉันยังไม่ได้บอกให้แกเอาเข้ามา อะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นคุณแฟนต้องจริงจัง
นิว : แฟนเขากลัวครับ เวลาหมาจะขู่กัน กลัวจะกัดกัน เขาก็เลยแบบ เหมือนในใจเขาร้อนรนตลอด เวลาหมาเริ่มจะก่อสงคราม
แน็ต : ใช่ๆ เข้าใจ ทีนี้เนี่ยมันก็เป็นหน้าที่ของคุณนิวแล้ว ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ คุณนิวต้องบอกแฟนให้ใจเย็น คือเรารู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราป้องกันได้ แต่อย่าเพิ่งไปสติแตกก่อนที่มันจะเกิด
นิว : ครับ
แน็ต : เพราะว่าถ้าเขาไม่กล้าลงโทษหมา หรือเขากลัวหมาเจ็บ ไม่กล้าทำอะไรกับหมา บอกเขานะว่าเอาอย่างไรล่ะ คุณอยากเป็นคนสอนให้หมาอยู่ร่วมกันให้ดี หรือคุณอยากเห็นหมาถูกเย็บ 10 เข็มล่ะ
นิว : มันส่วนมากเหตุการณ์จะเกิดเวลาผมไม่อยู่นี่ล่ะ ปกติถ้ามผมอยู่นะคุมไอ้พวกนี้ได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าขู่กันปุ๊บผมจะควบคุมสถานการณ์ได้ เหมือนมันรู้ว่าคนนี้ทำอะไรมันไม่ได้ อะไรประมาณนั้น อย่างที่คุณแน็ตบอก
แน็ต : ใช่ คือเขารู้ คือในฝูงหมาน่ะ มันต้องมีหนึ่งตำแหน่งคือตำแหน่งจ่าฝูง แล้วที่เหลือก็เป็นผู้ตาม ทีนี้เนี่ยจ่าฝูงมีหน้าที่อะไร จ่าฝูงมีหน้าที่ที่จะเป็นคนจัดการสถานการณ์นั้น จ่าฝูงจะเป็นคนบอกเองว่า พวกแกนั่ง พวกแกเงียบ พวกแกเล่นกันได้ พวกแกกิน พวกแกเดิน พวกแกไปขี้ จ่าฝูงเป็นคนจัดการ ไอ้ลูกฝูงไม่มีสิทธิ์จัดการอะไรเลยนะ ลูกฝูงมีแต่สิทธิ์ทำหน้าที่ฟังจ่าฝูงอย่างเดียว
นิว : ครับ
แน็ต : ทีนี้การที่คุณนิวอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ เป็นไปได้ว่าคุณนิวมีความเป็นผู้นำสูงกว่า หมาเขาก็จะเรียนรู้แล้วว่า ตอนนี้เฮียเขาคุมสถานการณ์ เราต้องทำตามเฮีย ถ้าเฮียเป็นแบบนี้ เราไปหวงเฮียไม่ได้ เราจะเดินไปแตะเฮียไม่ได้ แต่พอแฟนมา แฟนไม่มีความเป็นผู้นำ หมามันก็นำแฟน แล้วพอหมานำแฟนปุ๊บ เขาคุมแฟนคุณละ แล้วทีนี้หมา 4 ตัว เป็นเจ้าของผู้หญิง 1 คนน่ะ ไม่ใช่ผู้หญิง 1 คนเป็นเจ้าของหมา 4 ตัวนะ แล้วก็จะแย่งกันว่าใครจะได้ผู้หญิงคนนี้ไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้มันเกิดเหตุการณ์นั้น เขาต้องเปลี่ยนตัวเขาเอง ไม่ใช่ให้หมาเปลี่ยน เพราะหมามันไม่เปลี่ยน ถ้าคนไม่เปลี่ยน
นิว : ครับ เพราะว่าเขาโอ๋ไอ้สองตัวนั้นเป็นพิเศษอยู่แล้ว ไอ้ตัวที่ชอบโดนกัดน่ะ คือเขาจะโอ๋มาก เพราะมันตัวเล็กน่ารักไงครับ แต่ชิโร่มันจะเป็นชิสุห์ที่ตัวใหญ่กว่าพวก ตัวใหญ่กว่าพี่น้อง เขาก็จะรักไอ้สองตัวนั้น เวลานอนนี่แทบจะขึ้นไปนอนบนตัวเลย แต่ถ้าเป็นผม ถ้ามันขึ้นมานอนบนตัวคนผมจับลงเลย ไม่ให้มันขึ้น
แน็ต : การที่เขาขึ้นมานอนบนตัวเราน่ะ เขากำลังจะบอกเราแล้วว่า ฉันคุมแกนะเว้ย
นิว : ใช่ พอขึ้นบนตัวปุ๊บ ถ้าใครขยับเขยื้อนหรือจะเดินหาเนี่ย เอาแล้ว ขู่แล้ว
แน็ต : ไม่ดีๆ อันนี้คุณแฟนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเยอะแยะเลย คือหนึ่งเขาต้องรักหมาให้เท่าเทียมกัน ปฏิบัติกับหมาให้เหมือนกัน ถ้าจะดุไอ้หมาวัด ถ้าจะดุไอ้ชิโร่ ไอ้สองตัวนี้ก็ต้องโดน เพราะมันก็ถือเป็นหนึ่งในปัญหา แล้วการที่มันจะกัดกันก็อย่าไปโอ๋ ยิ่งโอ๋หมายิ่งรู้ว่าเป็น drama นึกออกไหม คือถ้าในฝูงหมาด้วยกันเอง ลองไปสังเกตไอ้ 4 ตัวนั้นเวลามันกัดกันน่ะ พอกัดกันเสร็จ อีกตัวหนึ่งจะเดินไปดู ตายหรือเปล่าวะ ไม่ตาย โอเคจบไป แยกย้าย ไม่มีใครเดินมา ไหวไหม ไปโรงบาลไหม จะตายไหม ฉันเป็นห่วงแกว่ะ ไม่มี มีแต่คนเนี่ยที่ทำ
นิว : แล้วเขาจะชอบใช่ทริคนี้ ถ้าหมาเริ่มเดินเข้ามาใกล้กันมาก จะกัดกันจริงๆละถ้าไม่ห้าม เขาก็จะ อ่ะ กินขนมกัน แล้วหมาก็จะหยุด ผมก็จะบอกอย่าทำแบบนี้ได้ไหม ถ้าทำแบบนี้มันก็จะรู้ว่าถ้ามันขู่ มันก็จะได้กินขนมอีก มันก็จะขู่กันอยู่อย่างนั้นแหละ
แน็ต : อืม บางทีขู่โดยที่ไม่มีอะไร เพราะขู่แล้วได้ขนม แบบเวลาหมาอยู่ดีๆก็ยกมือให้ เพราะนึกว่ายกมือให้แล้วให้ขนม ไม่ดีเลย เราว่าคุณแฟนต้องเปลี่ยนเยอะมากๆเลย เอาจริงๆนะ ก็ต้องบอกเขาแหละ ถ้าเขาอยากให้หมาอยู่ด้วยกันดีๆไม่มีปัญหาน่ะ ตัวเขาก็ต้องเปลี่ยน เนาะ
นิว : ครับ คุณแน็ตครับผมขอถามอีกเรื่องหนึ่ง คือเวลาที่มันเลิกขู่กันแล้ว ไม่ได้กัดกันนะครับ แค่เดินเหมือนมีอาการ แล้วพอเดินแยกออกจากกันแล้วเหมือนชิโร่มันจะชอบเดินมาที่ผ้าเช็ดเท้าหน้าบ้าน แล้วก็ขุดๆๆของมัน เหมือนแสดงพลังของมัน
แน็ต : ระบายอารมณ์ ระบายพลังงาน มันคือการระบายพลังงาน
นิว : ไอ้สองตัวเล็ก มันจะมีตัวหนึ่งที่แฟนเขาโอ๋ มันก็จะเดินขึ้นมาขี่ชิโร่ เอาขาสองขาเกาะบนหลังชิโร่อย่างนี้ มันคืออะไรน่ะครับ
แน็ต : แล้วชิโร่ทำไง
นิว : มันก็ไม่ทำอะไรครับ มันก็ไม่กัด มันก็ไม่ขู่ เฉยๆเลย เหมือนเล่นกัน
แน็ต : แต่ชิโร่คือตัวแรกที่ไปเริ่มก่อนไหมล่ะ?
นิว : ไม่ใช่ครับ ไอ้ตัวเล็กน่ะแหละ
แน็ต : อ๋อๆ มันเหมือนว่าเขากำลังจัดระดับของเขากันอยู่แล้ว ถ้าสู้กันฉันแพ้ แล้วฉันไปข่มแกต่อ ให้รู้ว่าฉันใหญ่กว่าแกนะ อะไรประมาณนี้ แต่ถ้าที่ชิโร่ไปขุดๆน่ะ เหมือนเขาระบายพลังงานออก เหมือนแบบไม่รู้ เครียดมาก ทำไรไม่ได้โว้ย หาที่ลง ถ้าเป็นคนก็เดินไปต่อยกระจก
นิว : อ๋อ ครับ
แน็ต : นั่นแหละ ส่วนไอ้เรื่องที่มันขึ้นไปกระโดดขี่อีกตัวหนึ่งน่ะ คือต้องหยุดนะ อย่าให้ทำ เพราะว่าหมาไม่ควรจะข่มกันและกัน แต่มันคือธรรมชาติของสัตว์นะถ้าพูดตรงๆ เหมือนแบบตัวผู้สองตัวชนกัน พอชนกันปุ๊บไอ้นี่แพ้ ไอ้ตัวที่แพ้มันจะหันไปชนตัวอื่นต่อ เหมือนวัดพลังกันน่ะ ถ้างั้นแกกับฉันใครเก่งกว่ากัน ไอ้นี่ชนะ ไอ้นี่แพ้ ไอ้นี่ก็จะหันไปหา ตัวไหนมาให้แซวอีกซิ อะไรประมาณนี้ เขาก็จะจัดลำดับกัน มันเป็นเรื่องปกติของสัตว์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรา ในฐานะจ่าฝูงเราต้องเป็นคนคุมสถานการณ์ให้ได้ ถ้าสั่งให้หยุดก็ต้องหยุด สั่งให้เงียบก็ต้องเงียบ กัดกันนักใช่ไหม แยกเลย แยกเสร็จแล้วเอาไปเดินด้วยกันเลยสักชั่วโมงหนึ่ง ให้มันกลับมารักกันเหมือนเดิม ทีนี้เดินเนี่ยก็ให้เดินข้างๆเรานะ ไม่ใช่เดินลากเรา ถ้าเดินลากเรานี่ก็ไม่ช่วยอะไรเหมือนเดิม
นิว : ครับ
แน็ต : ให้มันกลับมาผสานสานสัมพันธ์กันใหม่น่ะ
นิว : ปัญหามันเยอะมากครับ เรื่องสายจูงก็เหมือนกัน ถ้าผมใส่อีกตัวหนึ่งอยู่ เดินมาเอาสายจูงเนี่ย เขาจะรู้แล้ว เขาจะตื่นเต้นกันแล้วว่าจะได้ออกจากบ้าน ถ้าใส่ตัวหนึ่งปุ๊บจะเกิดอาการขู่กันเลย
แน็ต : ไอ้พวกนี้คุณมองว่าเป็นหลายปัญหา แน็ตมองว่าเป็นปัญหาเดียวคือเจ้าของไม่มีความเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นคุณไปหาความเป็นผู้นำคุณก่อน ความเป็นผู้นำคืออะไร ลองคิดสภาพเป็นคน คุณจะเลือกฟังผู้นำแบบไหน สงบแต่เด็ดขาด หรือขี้โมโหอ่อนปวกเปียก ใช้แต่กำลังอย่างเดียว ทำไมไม่ฟังวะ หรือแบบ เงียบ! สั่งให้เงียบก็เงียบ เข้ามุมไปเลย มันคือสิ่งที่อยู่ข้างใน มันไม่ได้เกี่ยวว่าคุณตัวใหญ่กว่าเขานะ คุณเป็นผู้ชายนะ คุณมีกล้ามนะ มันไม่ใช่นะ ทำไมแมวบางตัวคุมฝูงหมาได้น่ะ ทั้งๆที่ถ้าหมาตัวนั้นซัดกลับ แมวตายเลย แต่คือแมวตัวนั้นน่ะ แรงข้างในเขาสูงกว่า เขาเด็ดขาดกว่า เขาสงบกว่า เขาเป็นคนบอกพวกนั้นเอง บอกให้หยุดก็หยุด แค่นี้แหละ เพราะฉะนั้นคุณมองว่าปัญหานู่นนี่นั่น ทั้งหมดทุกอย่างเกิดจากปัญหาเดียว คุณไม่มีความเป็นผู้นำ ถ้าคุณมีความเป็นผู้นำ ไอ้ 4 ตัวมันฟังหมดทุกอย่างแหละ บอกให้หยุดมันก็ฟัง บอกให้มันเงียบมันก็ฟัง นึกออกไหม เพราะฉะนั้นกลับไปแก้ตรงนี้ก่อนนะคะ
นิว : ครับผม
แน็ต : หมดเวลาแล้ว มีอีกสายหนึ่งเขารออยู่
นิว : ครับ ขอบคุณมากครับ
แน็ต : ขอบคุณมากค่า สวัสดีค่ะ